ธอส.สำนักงานใหญ่ 8 มี.ค. – ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์คาดอสังหาฯ ปี 61 เติบโตร้อยละ 7.9 คาดบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โครงการเปิดใหม่ 100,000 ยูนิต กว่า 600,000 ล้านบาท ยอมรับเฟดขึ้นดอกเบี้ยมีผลตัดสินใจซื้อบ้านครึ่งปีหลัง
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยถึงแนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยปี 2561 ว่า ภาพรวมคาดว่าขยายตัวด้านหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยร้อยละ 7.9 และขยายตัวด้านมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ร้อยละ 10.8 ด้านยอดปล่อยใหม่สินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวร้อยละ 2.8 นับว่าทิศทางการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินยังดีต่อเนื่อง
ขณะที่การขยายตัวที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนร้อยละ 10.9 เมื่อแยกเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล คาดการณ์ว่าขยายตัวด้านหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยร้อยละ 8.9 สูงกว่าภาพรวมทั้งประเทศ มีอัตราการขยายตัวด้านมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ร้อยละ 13.9 และมีอัตราการขยายตัวด้านยอดปล่อยใหม่สินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อที่อยู่อาศัยร้อยละ 2.8 และมีอัตราการขยายตัวที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนร้อยละ 15.3 โดยอาคารชุดยังเป็นตัวนำตลาด เพราะประชาชนยังต้องการสูง นับว่าภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตลาดที่อยู่อาศัยยังคงอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล นับว่าการเป็นเติบโตของอาคารชุดเป็นหลัก โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมราคาแพงในตลาดบน ซึ่งเป็นการเพิ่มลักษณะมูลค่ามากกว่าการเพิ่มจำนวนยูนิต
ส่วนภูมิภาค คาดการณ์ว่าขยายตัวด้านหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยร้อยละ 6.8 มีอัตราการขยายตัวด้านมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ร้อยละ 5.5 และมีอัตราการขยายตัวด้านยอดปล่อยใหม่สินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อที่อยู่อาศัยร้อยละ 2.8 และมีอัตราการขยายตัวที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนร้อยละ 4.3 ขณะที่ในภูมิภาคเป็นการเติบโตในตลาดทาวน์เฮาส์และบ้านเดี่ยวเป็นหลัก คาดการณ์ว่าปี 2561 ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลจะมีหน่วยโครงการเปิดขายใหม่ประมาณ 117,100 หน่วย ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 2.8 มีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 107,800-128,800 หน่วย สำหรับตลาดที่อยู่อาศัยในภูมิภาคมีหน่วยที่อยู่อาศัยเสนอขายรวม 111,300 หน่วย แบ่งเป็น โครงการบ้านจัดสรร 79,900 หน่วย และโครงการอาคารชุด 31,400 หน่วย โดยมีมูลค่าการลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยของกลุ่มบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 29 บริษัทมีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 611,800 ล้านบาท น้ำหนักการลงทุนยังเป็นผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นหลัก โดยอาคารชุดยังเกาะอยู่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ ชั้นใน ขณะที่ 5 จังหวัดใกล้เคียงกรุงเทพฯ เริ่มคอนโดมิเนียมเติบโตสูง คือ นนทบุรีและสมุทรปราการ บริษัทเอกชนเริ่มหันกลับมาลงทุนในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงมากกว่าการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาค สำหรับยอดเหลือขายร้อยละ 30 นับว่ามีการเป็นระดับปกติของตลาด นับว่าไม่เหลือมากเกินไปสามารถขายออกไปได้
หลังจากภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยปี 2560 เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีแนวโน้มที่ดีกว่าตลาดที่อยู่อาศัยในภูมิภาค คาดการณ์ว่าสถานการณ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศในปี 2561 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 ขณะที่ตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล จะมีการขยายตัวร้อยละ 10.7 ส่วนตลาดที่อยู่อาศัยในจังหวัดภูมิภาค ขยายตัวร้อยละ 4.2 เมื่อพิจารณาประเภทโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ พบว่าปี 2560 มีโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล รวม 385 โครงการ จำนวน 113,926 หน่วย มูลค่ารวม 491,878 ล้านบาท จำนวนโครงการลดลงจากปี 2559 ร้อยละ 18.6 จำนวนหน่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 ขณะที่มูลค่าโครงการเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.9 เมื่อแยกตามประเภทบ้านและระดับราคา พบว่า โครงการบ้านจัดสรรเปิดตัวใหม่ปี 2560 เป็นประเภททาวน์เฮ้าส์มากที่สุด ร้อยละ 67 ของจำนวนหน่วยที่เปิดขายใหม่ทั้งหมด และส่วนใหญ่อยู่ในระดับราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาท ขณะที่โครงการอาคารชุดเปิดตัวใหม่เป็นประเภท 1 ห้องนอนมากที่สุดร้อยละ 74.8 ของหน่วยที่เปิดตัวใหม่ทั้งหมด และส่วนใหญ่อยู่ในระดับราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาท โดยทำเลที่มีหน่วยเปิดขายใหม่มากที่สุด 5 อันดับแรก ประเภทบ้านจัดสรร ได้แก่ 1.สมุทรปราการ 2.ลำลูกกา – คลองหลวง – ธัญบุรี – หนองเสือ 3.บางกรวย – บางใหญ่ – บางบัวทอง – ไทรน้อย 4.มีนบุรี – หนอกจอก – คลองสามวา – ลาดกระบัง และ 5.เมืองนนทบุรี – ปากเกร็ด
นายวิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของตลาด แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีท่าทีขยับเพิ่มดอกเบี้ยสูงขึ้น ในส่วนของไทยมองว่าครึ่งปีแรกยังมีอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิม เพราะเศรษฐกิจไทยยังค่อย ๆ ฟื้นตัว จึงต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่หากสหรัฐปรับเพิ่มดอกเบี้ยหลายครั้งสูงขึ้นมากอาจกดดันให้ไทยปรับเพิ่มตามไปด้วยอาจกระทบต่อการตัดสินใจกู้ซื้อบ้านครึ่งปีหลัง แต่คาดว่าไม่กระทบต่อภาระการผ่อนชำระของประชาชนมากเกินไป เพราะคงใช้แผนรีไฟแนนซ์เข้ามาปรับพอร์ตสินเชื่อ .-สำนักข่าวไทย