กรุงเทพฯ 7 มี.ค.-วันพรุ่งนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะพิจารณาร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้าย ซึ่งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายพิจารณาเสร็จแล้ว แม้ว่าหลายฝ่ายมั่นใจว่าจะไม่โดนคว่ำ แต่ยังมีความกังวลในบางประเด็นที่อาจต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ซึ่งเป็นร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้าย ที่กรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย พิจารณาเสร็จแล้ว โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายลูก ส.ว. ในบทเฉพาะกาลช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ให้มี ส.ว.เลือกกันเองจาก 2 ทาง คือ สมัครอิสระและส่งโดยองค์กร เลือกกันเองทุกระดับ ให้เหลือ 200 คนสุดท้ายให้ คสช.เลือกเหลือ 50 คน รวมกับ 6 คนโดยตำแหน่ง และจากกรรมการสรรหาอีก 150 คน จากนั้นค่อยกลับไปใช้วิธีการตามร่างเดิมของ กรธ.
ส่วนร่างกฎหมายลูก ส.ส. กรรมาธิการฝ่ายให้ปรับเวลาการลงคะแนนเลือกตั้งตั้งแต่ 08.00-17.00 น. ไม่ให้ผู้สมัคร ส.ส.จัดมหรสพในช่วงเลือกตั้ง ให้ช่วยคนพิการลงคะแนนได้ งบหาเสียงแบ่งเป็นขนาดพรรค 3 กลุ่มตามจำนวนการส่งผู้สมัคร และยังยืนยันตัดสิทธิผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งลงสมัครกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส.ส. และ ส.ว. และห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง และผู้บริหารท้องถิ่นด้วย
ข้อสรุปที่ออกมาหลายฝ่ายมั่นใจว่า เป็นทางสายกลางที่จะไม่ทำให้กฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้ายถูกคว่ำในวันพรุ่งนี้ หากแต่มีข้อห่วงใยจากนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ในบทเฉพาะกาลของร่างกฎหมายลูก ส.ว. ประเด็นที่ยังคงแบ่งประเภทผู้สมัครออกเป็น 2 ประเภท จึงแนะ สนช.เข้าชื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่ง สนช.รับลูกที่จะไปดำเนินการ โดยเฉพาะกลุ่มสตรีที่มองว่าการปรับแก้ของ สนช.ทำให้สตรีเสียโอกาส
ตามขั้นตอนหากที่ประชุม สนช.มีมติให้ความเห็นชอบกับร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ หรือ 166 คน ก็จะส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป แต่หากต้องส่งร่างให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ก็ต้องชะลอการนำร่างนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย โดยแม้จะไม่มีกรอบเวลาที่แน่ชัด แต่จะไม่กระทบกับโรดแมปการเลือกตั้งที่วางไว้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เพราะร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้ายจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน.-สำนักข่าวไทย
ชมผ่านยูทูบ