กรุงเทพฯ 22 ม.ค.-การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้ ถูกจับจ้องเป็นพิเศษ เพราะจะมีการพิจารณาร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. วาระ 2 และ 3 ซึ่งในชั้นกรรมาธิการมีการปรับแก้จากข้อเสนอของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหลายมาตรา และมีหลายประเด็นที่ยังมีความเห็นต่าง
เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก สำหรับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในชั้นกรรมาธิการของ สนช.ที่มีการแก้ไขไปถึง 30 มาตรา ตัดออก 2 มาตรา และเพิ่มเติมอีก 2 มาตรา ซึ่งประเด็นที่เชื่อมโยงกับการเลื่อนโรดแมปเลือกตั้ง คือ การแก้ไขมาตรา 2 ขยายเวลาการบังคับใช้ร่างกฎหมาย หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปอีก 90 วัน เพื่อให้พรรคการเมืองเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง
กรรมาธิการยังขยายเวลาใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน ตั้งแต่เวลา 07.00-17.00 น. รวมทั้งเพิ่มการจำกัดสิทธิการสมัครเข้ารับราชการเป็นเวลา 2 ปี สำหรับผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งจะถูกตัดสิทธิร้องค้านผลเลือกตั้ง ส.ส. ถูกตัดสิทธิลงสมัคร ส.ส. ส.ว. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถูกตัดสิทธิสมัครรับราชการ และ ลูกจ้างของรัฐสภา ถูกตัดสิทธิการเป็นข้าราชการการเมืองของรัฐสภา รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่นห้ามสมัครรับราชการเป็นเวลา 2 ปี
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ กกต. 2 ใน 3 หรือ กกต. 5 คน จากทั้งหมด 7 คน สามารถเลื่อนเลือกตั้งบางเขตได้ หากเห็นว่าการเลือกตั้งนั้นไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม ขณะที่การหาเสียงผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ต้องยุติก่อน 18.00 น.ของวันก่อนวันเลือกตั้ง และแก้ไขให้สามารถจัดแสดงมหรสพ งานรื่นเริง ประกอบการหาเสียงของพรรคการเมืองได้ เพื่อเป็นกลยุทธจูงใจให้ประชาชนมารับฟังการหาเสียงมากขึ้น พร้อมกำหนดให้แต่ละพรรคใช้งบประมาณในการหาเสียงเท่ากัน และทุกเขตก็ต้องมีเพดานการใช้เงินหาเสียง ซึ่ง กกต.จะเป็นผู้ออกระเบียบ
ขณะที่การรณรงค์ Vote NO จะถือว่าเป็นการจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยม จึงมีความผิด เพราะกระทบต่อบรรยากาศการเลือกตั้ง ที่ต้องการให้ประชาชนเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ในสภาฯ ส่วนผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ หากขาดคุณสมบัติ แต่เสนอตัวให้พรรคส่งลงสมัคร จะมีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท ให้ศาลสั่งตัดสิทธิทางการเมือง 20 ปี และเรียกคืนเงินประจำตำแหน่งต่างๆ ที่ได้รับ ก่อนศาลมีคำสั่ง
ยังมีอีกหลายมาตราที่กรรมาธิการคงไว้ตามร่างเดิม เช่น คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ที่เข้มงวดตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งคงต้องลุ้นว่าสุดท้ายแล้ว ร่างกฎหมายฉบับนี้จะผ่านมติเห็นชอบจากที่ประชุม สนช.ในวันที่ 25 มกราคมนี้หรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นการขยายเวลาการบังคับใช้ ที่ยังมีกรรมาธิการเสียงข้างน้อยคัดค้านให้ยืนตามร่างเดิม คือ บังคับใช้ทันที และกรรมาธิการส่วนน้อยอีกกลุ่มเสนอให้ขยายเวลาการบังคับไปอีก 120 วัน.-สำนักข่าวไทย