กรุงเทพฯ 7 มี.ค.-ปัญหาโรคซึมเศร้าเริ่มพบบ่อยมากขึ้นในสังคมไทย ทั้งนี้เป็นเพราะสาเหตุอะไรที่ทำให้คนป่วยมากขึ้น และรูปแบบของทำอัตวินิบาตกรรม หรือการฆ่าตัวตาย ทำไมถึงรุนแรงมากขึ้น ติดตามจากรายงาน
เป็นข่าวทุกครั้ง เมื่อพบผู้เสียชีวิตจากโรคซึมเศร้า ที่พบแทบทุกเดือน ทำให้เกิดคำถามคนไทยป่วยซึมเศร้ามากขึ้นหรือไม่ นักวิชาการชี้ว่า อัตราการป่วยของโรคซึมเศร้าในไทยยังคงเดิม 1.5 ล้านคน ขยับขึ้นไม่มากอย่างมีนัยสำคัญ โดยเป็นกลุ่มคนที่เริ่มมีอาการสมัครใจเข้าพบจิตแพทย์ด้วยตัวเอง สาเหตุที่ทำให้ป่วยซึมเศร้ามากขึ้นมาจากภาวะเศรษฐกิจที่บีบรัด สังคมที่นับวันสื่อสารและพูดคุยกันน้อยลง
ขณะเดียวกัน พบว่าผู้ป่วยซึมเศร้าจะมีพันธุกรรม หรือยีนความอดทนน้อยกว่าคนทั่วไป หรือมีการหลั่งสารเคมีในสมองที่ผิดปกติ ประกอบกับประสบการณ์ชีวิตในวัยเด็กและวัยรุ่นแก้ไขปัญหาไม่ได้ เป็นส่วนประกอบที่ทำให้ตัดสินใจฆ่าตัวตาย โดยรูปแบบพบว่ารุนแรงมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมเลียนแบบ หรือก๊อบปี้เคส ที่สื่อต่างๆ บอกรายละเอียดขั้นตอนการเสียชีวิตมากเกินไป จึงเป็นที่มาของการจบชีวิตที่มีพฤติการณ์คล้ายคลึงกัน
หากเปรียบเทียบอัตราการฆ่าตัวตายในประเทศไทย จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต พบว่าลดลง โดยปี 59 เหลือ 6.35 ต่อประชากรแสนคน และในการฆ่าตัวตาย ทุกๆ 2 ชั่วโมง จะฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน โดยพบว่าผู้ชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าหญิงถึง 3 เท่า และใช้ความรุนแรงมากกว่า ขณะที่ผู้หญิงมีความพยายามในการฆ่าตัวตายบ่อยกว่าชายถึง 3 เท่า พฤติกรรมฆ่าตัวตาย หรือการป่าวร้องอยากจบชีวิต เป็นเพียงการส่งสัญญาณบอกเล่าถึงความทุกข์ที่มากล้น และต้องการความช่วยเหลือ สามารถแก้ไขได้แค่รับฟัง ปราศจากการวิจารณ์ เพื่อไม่ให้กระตุ้น และเสริมแรงด้านลบในจิตใจ
ความทุกข์ที่ท่วมท้น เหมือนอยู่ในอุโมงค์มืด รอคอยแสงสว่าง หากไม่อดทน จะไม่พบความสุข สำหรับผู้ที่รอคอย เพียงคำปลอบใจ กำลังใจที่ให้กัน นับเป็นสิ่งสำคัญที่คนมีทุกข์หวังจะได้รับ.-สำนักข่าวไทย
ผ่านยูทูบ