สปส.4 มี.ค.-เลขาฯประกันสังคม แจงรัฐบาลปัจจุบันไม่เคยยืมเงินกองทุนฯ กว่า 2 แสนล้านไปใช้ ย้ำการบริหารการลงทุนของกองทุนฯต้องเป็นไปตามระเบียบบอร์ดประกันสังคมและต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม
นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวชี้แจงว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐบาลชุดปัจจุบันไม่เคยยืมเงินจากกองทุนประกันสังคม เนื่องจากการลงทุนของสำนักงานประกันสังคมนั้น ต้องเป็นไปตามระเบียบของคณะกรรมการประกันสังคมและตามที่กระทรวงการคลังกำหนด และต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกันสังคมซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อวางพื้นฐาน สร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตในกลุ่มของสมาชิกที่มีรายได้และจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม รวมถึงรับผิดชอบในความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับการรักษาพยาบาลและมีการทดแทนรายได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีข้อบัญญัติให้มีการกู้ยืมเงิน
สำหรับประเด็นดังกล่าวเชื่อว่าต้องการดิสเครดิตรัฐบาลชุดปัจจุบัน สำนักงานประกันสังคมจึงมอบหมายให้กองกฎหมายพิจารณาข้อกฎหมายเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปแล้ว
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ยังกล่าวชี้แจงผลการลงทุนในปี 2560 ว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 สำนักงานประกันสังคมมีเงินลงทุนจำนวน1,762,095 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินสมทบที่จัดเก็บจากผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐบาล จำนวน 1.24 ล้านล้านบาท และดอกผลจากการลงทุนสะสม 524,347 ล้านบาท โดยเงินลงทุนสามารถแบ่งเป็นหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงร้อยละ78 และหลักทรัพย์เสี่ยงร้อยละ22 ซึ่งเงินลงทุนดังกล่าวเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคมที่กำหนดกรอบการลงทุนในหลักทรัพย์เสี่ยงไม่เกินร้อยละ40 และอยู่ภายใต้ค่าความเสี่ยงที่คณะกรรมการกำหนดและ ณ สิ้นปี 2560 สำนักงานประกันสังคมสามารถสร้างผลตอบแทนกองทุนประกันสังคมได้ประมาณ 58,000 ล้านบาท โดยคำนวณผลตอบแทนตามมาตรฐานบัญชีภาครัฐคิดเป็นร้อยละ5.07และมีผลตอบแทนตามมูลค่าตลาดเท่ากับร้อยละ6.01 ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยที่มีอัตราร้อยละ0.67และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารที่มีอัตราเฉลี่ยร้อยละ 1.37
ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมจะนำผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนไปพัฒนาดูแลและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้กับลูกจ้าง ผู้ประกันตน ให้ได้รับบริการที่ดีและได้รับประโยชน์สูงสุดจากระบบประกันสังคม ขอให้ลูกจ้าง ผู้ประกันตนมั่นใจในการดำเนินงานเพื่อสร้างความมั่นคงให้ผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ขณะเดียวกันยังจะนำไปสู่การยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมของประเทศ โดยยึดหลักการดำเนินงานที่โปร่งใส และตรวจสอบได้ .-สำนักข่าวไทย