กรุงเทพฯ 3 มี.ค.- สัปดาห์นี้ เงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อยส่วนตลาดหุ้นทรงตัวปิดใกล้เคียงสัปดาห์ก่อนหน้า
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อย โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงกดดันจากตัวเลขยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐฯ ที่ต่ำกว่าที่คาด และการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาอ่อนค่าในช่วงต่อมา หลังถ้อยแถลงของประธานเฟดเกี่ยวกับเศรษฐกิจและเงินเฟ้อกระตุ้นให้ตลาดเพิ่มน้ำหนักต่อโอกาสการคุมเข้มนโยบายการเงินมากขึ้นของเฟด กระนั้นก็ดี กรอบการฟื้นตัวของเงินดอลลาร์ฯ เริ่มจำกัดลงอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ หลังคำกล่าวของประธานเฟดที่ระบุว่ายังไม่พบสัญญาณเงินเฟ้อที่มาจากแรงกดดันของค่าจ้าง ชะลอการคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯ ขณะที่ ความกังวลต่อนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ก็เป็นปัจจัยลบต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ เช่นกัน ในวันศุกร์ (2 มี.ค.) เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับ 31.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ จากระดับ 31.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (23 ก.พ.)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (5-9 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.30-31.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยอาจต้องติดตามถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ อาทิ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร การจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนก.พ. ยอดสั่งซื้อสินค้าภาคโรงงานเดือนม.ค. รายงาน Beigebook ของเฟด นอกจากนี้ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ประกอบด้วย ผลการเลือกตั้งในอิตาลี (4 มี.ค.) ข้อมูลเศรษฐกิจจีนเดือนก.พ. ตลอดจนผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางญี่ปุ่น
ส่วนตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทยกลับมาปิดในระดับทรงตัวจากสัปดาห์ก่อนหน้าโดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,811.98 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยราว 0.22% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นประมาณ 25.60% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 80,781.59 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 497.57 จุด ลดลง 3.38% จากสัปดาห์ก่อน ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ ด้วยแรงหนุนจากหุ้นขนาดใหญ่ทั้งกลุ่มพลังงาน กลุ่มธนาคาร และกลุ่มขนส่ง/โลจิสติกส์ ก่อนที่จะเผชิญแรงขายทำกำไรก่อนวันหยุดในระหว่างสัปดาห์ และแรงขายต่อเนื่องจากนักลงทุนต่างชาติในช่วงปลายสัปดาห์ ท่ามกลางความวิตกกังวลต่อมาตรการกีดกันทางการค้ารอบใหม่ของสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (5-9 มี.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,800 และ 1,785 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,825 และ 1,840 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.พ. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ดัชนี PMI Composite ของประเทศแถบยุโรป และดัชนีราคาผู้บริโภคของจีน เดือนก.พ.-สำนักข่าวไทย