กรุงเทพฯ 2 มี.ค.-ในวันที่ 7 มีนาคมนี้ นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ซึ่งจะมีการพิจารณาร่างสัญญาการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่หมดอายุสัมปทาน ไปดูมุมมองของเอกชนมองเรื่องนี้เป็นอย่างไร ติดตามจากรายงาน
ถกเถียงกันมานานหลายปี และรัฐบาลชุดนี้ได้จัดรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนหลายครั้งเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมเปิดประมูลแหล่งเอราวัณและบงกช ที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 2565 และ 2566 ในที่สุดกระทรวงพลังงานเสนอเปิดประมูลด้วยระบบแบ่งปันผลผลิต แทนการใช้ระบบเดิม คือ สัมปทาน ส่วนที่ไม่ใช้ระบบจ้างผลิต เพราะพื้นที่อ่าวไทยเป็นกระเปาะเล็กๆ ไม่ได้ปิโตรเลียมมากพอ จะเสี่ยง จ้างผลิต เหมือนกับแหล่งน้ำมันในตะวันออกกลาง
ปตท.สผ.บริษัทที่รัฐ ถือหุ้นใหญ่ มีพันธกิจ สำคัญดูแลความมั่นคงด้านพลังงาน และเป็นผู้ดำเนินการในแหล่งบงกช สนับสนุนให้ เปิดประมูลโดยเร็ว เพราะหากล่าช้าไปเป็นปีอีก จะมีความเสี่ยงต่อประเทศ ผู้ผลิตไม่สามารถวางแผนผลิตได้ทันตามที่รัฐกำหนดว่าต้องผลิตก๊าซรวมกัน 2 แหล่ง 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน จะกระทบต่อค่าไฟฟ้า หากต้องใช้ก๊าซแอลเอ็นจีทดแทน กระทบอุตสาหกรรมต่อเนื่อง การจ้างงาน รวมไปถึงรายได้ของภาครัฐ
ปตท.สผ.ยอมรับด้วยว่าความเป็นผู้ผลิตรายเดิมอาจจะได้เปรียบด้านข้อมูล แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะจัดประมูลไม่โปร่งใส
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มองว่าที่ผ่านมาประเทศไทยเสียเวลาถกเถียงจนได้ข้อมูลรอบด้านแล้วว่า ควรจะประมูลรูปแบบใด โดยภาคเอกชนนั้นต้องการความมั่นคงชัดเจน หากเปิดประมูลแหล่งเอราวัณและบงกชล่าช้าไปอีก ก็จะขาดความต่อเนื่องในการผลิต ประเทศชาติจะเสียประโยชน์.-สำนักข่าวไทย