กรุงเทพฯ 1 มี.ค. – มีการคาดการณ์ภายใน 2 ปีนี้ จะมีการผลิตและใช้งานหุ่นยนต์ในงานบริการมากขึ้น จนแซงหน้าหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม โดยตลาดส่วนใหญ่เน้นไปทางการแพทย์ เพราะจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ขณะที่ รพ.จุฬาฯ นำร่อง เริ่มนำหุ่นยนต์ดินสอเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแล้ว
การติดตามอาการป่วยของคนไข้โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งมักมีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต ร่วมด้วย ทำได้ง่ายขึ้น หลังมีการนำหุ่นยนต์ดินสอเข้ามาเป็นสื่อกลาง ช่วยสร้างความอุ่นใจให้กับคนไข้และญาติ กลับไปพักฟื้นที่บ้านได้เร็วขึ้น หุ่นยนต์ลักษณะนี้อยู่ในช่วงนำร่อง 8 ตัว ที่ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เลือกทดลองใช้กับคนไข้ เพื่อที่แพทย์จะได้รับรู้อาการอย่างต่อเนื่อง นอกจากการวิดีโอคอลตรวจเช็กอาการเบื้องต้นแล้ว หุ่นยนต์ตัวนี้ยังช่วยจับความเคลื่อนไหวของคนไข้ หากพลัดตกหรือหายไปจากเตียง ช่วยเตือนให้รับประทานยา สอนทำกายภาพบำบัด ช่วยคลายเครียดด้วยบทเพลง และข้อคิดจากธรรมะ ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนาให้สามารถประเมินอาการ และดูแลคนไข้ได้รอบด้านมากขึ้น
นี่เป็นตัวอย่างของหุ่นยนต์ดินสอผู้สูงอายุ ซึ่งผลิตโดยฝีมือคนไทย และส่งออกไปญี่ปุ่น ปีละกว่า 500 ตัว ผู้บริหารบริษัทผลิตหุ่นยนต์เพื่อการพาณิชย์แห่งแรกของไทย บอกว่า เทรนด์หุ่นยนต์ในภาคบริการขณะนี้ ตลาดต้องการหุ่นยนต์ที่มีความสามารถเฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการดูแลคนไข้และผู้สูงอายุ ซึ่งกำลังขาดแคลนบุคลากรอย่างหนัก แตกต่างจากการพัฒนาช่วงแรก ผลิตหุ่นยนต์บริการทั่วไปที่ใช้ในร้านอาหาร ร้านค้าปลีก และสร้างสีสันในงานอีเวนท์ต่างๆ
สอดคล้องกับข้อมูลทิศทางอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าภายใน 2 ปีนี้ จะมีการผลิตและใช้งานหุ่นยนต์ในงานบริการต่างๆ เพิ่มมากขึ้น จนแซงหน้าหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม และตลาดส่วนใหญ่จะเน้นไปทางการแพทย์ เนื่องจากสังคมไทยและทั่วโลกจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ. – สำนักข่าวไทย