กรุงเทพฯ 5 ต.ค. – ธพ.ชี้ยอดใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นนอกจากผลด้านราคาต่ำแล้วยังเกิดจากจราจรติดขัด เตรียมเสนอ กบง.เพิ่มส่วนต่างราคาอี 20 กับอี 10 เพื่อเพิ่มยอดใช้เอทานอล รวมถึงเสนอปรับราคาแก๊สโซฮอล์95 และ 91 ให้เท่ากัน
นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า ยอดใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นของประเทศไทยนอกจากราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงกว่า 2 ปีแล้วยังเป็นผลมาจากปัญหารถติดโดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่และกรุงเทพมหานคร และการที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงและระบบรถสาธารณะอื่น ๆ ยังไม่เป็นที่นิยม ซึ่งหากมีการรณรงค์การใช้รถสาธารณะเพิ่มขึ้นอาจทำให้การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นแบบชะลอตัว
“รถติดการเผาผลาญน้ำมันก็เพิ่มขึ้นยิ่งช่วงฝนตกรถติดนาน จากเดิมเดินทาง 1 ชั่วโมง ก็ใช้เวลามากกว่า 2-3 ชั่วโมง ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วงก็จะเห็นคนใช้น้อยมากต่ำกว่าแผนอย่างมาก” นายวิฑูรย์ กล่าว
ทั้งนี้ ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 กลุ่มน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.90 เฉลี่ยอยู่ที่ 28.83 ล้านลิตร/วัน ส่งผลให้ไทยต้องนำเข้าเบนซินสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นด้วย 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) 480 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 91 มูลค่า 7,314 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 48 ส่วนการใช้ดีเซลเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.05 เฉลี่ยอยู่ที่ 60.54 ล้านลิตร/วัน ส่วน LPG ลดลงร้อยละ 9.92 เฉลี่ยอยู่ที่ 16.38 ล้าน กก./วัน และ NGV ลดลงร้อยละ 9.83 เฉลี่ยอยู่ที่ 7.74 ล้าน กก./วัน. และ ธพ.คาดว่าทั้งปียอดใช้การเติบโตคงจะอยู่ในสัดส่วนนี้แม้ไตรมาส 4 จะเป็นช่วงที่ใช้น้ำมันเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นก็ตาม
นอกจากนี้ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ยังเตรียมเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง.เพื่อขยับส่วนต่างราคาระหว่างอี 20 และอี 10 ให้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันต่างกัน 2.24-3.51 บาท/ลิตร เพื่อจูงใจให้คนใช้เอทานอลมากขึ้น และจะเสนอให้ราคาแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91มีราคาเท่ากันจากปัจจุบันต่างกัน 0.27 บาท/ลิตร เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายลดจำนวนหัวจ่ายน้ำมันด้วยการใช้ระบบการตลาดที่จะส่งผลให้เกิดการยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 และตามแผนปี 2569 นั้นจะส่งเสริมให้อี 20 และอี 85 เป็นน้ำมันกลุ่มเบนซินหลักของประเทศ ส่วนที่เหลือเป็นน้ำมันทางเลือก โดยคาดว่าจะทำให้เอทานอลเพิ่มขึ้นเป็น 7 ล้านลิตร/วัน จากปัจจุบัน 3.8 ล้านลิตร/วัน
“การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แม้มากที่สุดที่ 11.19 ล้านลิตร แต่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.05 โตต่ำกว่าแก๊สโซฮอล์95 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.33 มียอดใช้ 10.69 ล้านลิตร/วัน เป็นเพราะภาครัฐปรับลดส่วนต่างของน้ำมัน 2ประเภทนี้ และทำให้ปั๊มน้ำมันบางค่าย เช่น ซัสโก้เตรียมยกเลิกขายแก๊สโซฮอล์ 91 และปั๊ม ปตท.บางแห่งก็ยกเลิกขายเช่นเดียวกัน” นายวิฑูรย์ กล่าว
สำหรับการใช้น้ำมันอี 20 เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.42 เฉลี่ยอยู่ที่ 4.75 ล้านลิตร/วัน เบนซิน 95 ลดลงร้อยละ2.94 เฉลี่ย 1.34 ล้านลิตร/วัน และอี 85 ลดลงร้อยละ 0.68 เฉลี่ย 0.86 ล้านลิตร/วัน อย่างไรก็ตามยอดใช้อี 20 ถือว่าเป็นเกณฑ์ต่ำมาก เพราะรถยนต์นั่งทั่วประเทศที่ใช้อี 20 ใช้ได้ 2.7 ล้านคันจากรถยนต์กลุ่มเบนซินทั้งหมด 5.9 ล้านคัน
ส่วนการใช้ LPG ในช่วง 9 เดือนของปี 2559 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.92 เฉลี่ยอยู่ที่ 16.38 ล้าน กก./วัน โดยเป็นการลดลงของการใช้ภาคขนส่งและภาคปิโตรเคมี โดยภาค ปิโตรเคมีลดลง ร้อยละ 17.97 เฉลี่ยอยู่ที่ 4.94 ล้าน กก./วัน ภาคขนส่ง ลดลงร้อยละ 15.92 เฉลี่ยอยู่ที่ 4.06 ล้าน กก./วัน ส่วนภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.23 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.72 ล้าน กก./วัน และภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.01 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.66 ล้าน กก./วัน สำหรับการนำเข้า LPG ในช่วง 9 เดือนของปี 2559 ลดลงร้อยละ 63.08 เฉลี่ยอยู่ที่ 41 ล้าน กก./เดือน ภาพรวมของการใช้และการนำเข้า LPG ลดลง เนื่องจากความต้องการใช้ในภาคขนส่งและภาคปิโตรเคมีลดลงจากการเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นแทน ประกอบกับการผลิต LPG ในประเทศมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ จึงไม่จำเป็นต้องนำเข้าในปริมาณสูงเหมือนกับปีก่อน อีกทั้งราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จึงทำให้ประชาชนหันไปใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้น .-สำนักข่าวไทย