ชัยนาท 5 ต.ค.- รองอธิบดีกรมชลประทาน ยืนยันว่า ปริมาณน้ำจากพื้นที่ภาคเหนือ ที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา อยู่ในระดับปกติ และไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ เผย นายกฯ กำชับให้ติดตามสถานการณ์น้ำทุกชั่วโมง และให้ความสำคัญพื้นที่ชุมชน และการเกษตร
นายทองเปลว ทองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ยืนยันว่า ปริมาณน้ำจากพื้นที่ภาคเหนือ ที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ขณะนี้อยู่ที่ 1,853 ลูกบาศเมตรต่อวินาที ซึ่งเป็นปริมาณอยู่ในระดับปกติ และควบคุม บริหารจัดการน้ำได้ ขณะที่ ปริมาณใต้เขื่อนเจ้าพระยา ก่อนเข้าสู่กรุงเทพมหานคร จะลดระดับลง เพราะระหว่างทางมีแก้มลิง และพื้นที่รองรับน้ำ ทำให้ปริมาณที่จะไหลเข้าสู่กรุงเทพฯ เหลือเพียง 1,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ เพราะปริมาณน้ำที่จะส่งผลให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ได้ จะต้องมีปริมาณมากกว่า 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
“ยืนยันว่า ปริมาณน้ำในปีนี้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า ยังบริหารจัดการน้ำได้ตามปกติ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังกำชับให้กรมชลประทาน ติดตามสถานการณ์น้ำทุกชั่วโมง และให้ความสำคัญพื้นที่ชุมชน และการเกษตร และยังสั่งการให้เตรียมเก็บน้ำไว้ในแก้มลิง เพื่อใช้ในหน้าแล้ง รวมถึง เตรียมเครื่องสูบน้ำ ไว้เพื่อระบายน้ำ” นายทองเปลว กล่าว
นายทองเปลว กล่าวว่า เขื่อนภูมิพลและเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ขณะนี้มีพื้นที่เพียงพอที่จะรับปริมาณน้ำ ที่จะเกิดจากฝนตกเหนือเขื่อนได้ทั้งหมด ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อน ยังอยู่ในเกณฑ์มาก ทำให้ต้องระบายน้ำในอัตราวันละ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะสามารถกักเก็บน้ำได้เต็มอ่าง ในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้
“กรมชลประทานได้วางแผนบริหารจัดการน้ำบริเวณท้ายเขื่อนป่าสักฯ ด้วยการใช้เขื่อนพระราม 6 เป็นเครื่องมือ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำ โดยบริเวณเหนือเขื่อนพระราม 6 จะแบ่งรับน้ำเข้าคลองระพีพัฒน์ ในปริมาณ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนพระราม 6 ในเกณฑ์ไม่เกิน 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 530 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยไม่มีพื้นที่ใดได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ ในครั้งนี้” นายทองเปลว กล่าว
นายทองเปลว กล่าวว่า ส่วนในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก เริ่มจะมีฝนตกหนักลงมาเพิ่มเติม กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำในระบบชลประทาน โดยการพร่องน้ำให้อยู่ในระดับเก็บกักต่ำสุด เพื่อให้มีพื้นที่รองรับปริมาณน้ำที่จะเกิดจากฝนตกหนักลงมาอีก จากอิทธิพลของร่องความกดอากาศต่ำ ที่จะเคลื่อนลงมาสู่พื้นที่ภาคกลางตอนล่างในอนาคต .- สำนักข่าวไทย