กรุงเทพฯ 26 ก.พ. – ต้นเดือนมีนาคมนี้ จะเริ่มเห็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะหน้าตาของพรรคการเมืองใหม่ที่จะก่อตั้งขึ้น หลังมีการเปิดโอกาสให้จดจองชื่อพรรค ตามคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560
ก่อนที่จะก้าวสู่โหมดเลือกตั้งในปี 2562 กลุ่มการเมืองเริ่มเคลื่อนไหวจัดตั้งพรรคใหม่ หรือรีแบรนด์พรรคเดิม เนื่องจากเงื่อนไขภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ยุ่งยากมากขึ้น ล่าสุด คสช.มีคำสั่งที่ 53/2560 พยายามผ่อนคลายให้ดำเนินการจดจองชื่อพรรคใหม่ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมนี้ ส่วนพรรคเก่าจะสามารถมาจดแจ้งและยืนยันสมาชิกได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน
สำหรับขั้นตอนนั้น แต่ละพรรคต้องมาที่ กกต. ก่อนเวลา 07.30 น. เพื่อมาลงลำดับในการจองชื่อพรรค ในกรณีชื่อซ้ำกัน กลุ่มที่มาก่อนและเอกสารครบจะได้สิทธิ โดยชื่อที่น่าจะมีผู้สนใจหลายกลุ่มที่อาจแย่งชื่อกัน เช่น กิจประชารัฐ และไทยนิยม เพราะชื่อเหล่านี้ไปพ้องกับนโยบายและกลุ่มที่จะสนับสนุนรัฐบาลปัจจุบัน
ขณะที่ คสช.ยังเปิดให้พรรคใหม่ขออนุญาต คสช. ผ่าน กกต. เพื่อจัดการประชุมได้ โดยจะต้องระบุวันเวลา สถานที่ จำนวนผู้เข้าประชุม และผู้รับผิดชอบให้ชัดเจน
สำหรับพรรคการเมืองที่เตรียมจัดตั้งใหม่ ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เช่น พรรคเครือข่ายประชาชนปฏิรูป ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นแกนนำ รวมถึงนางอัมพาพันธ์ ธเนศเดชสุนทร อดีตภรรยา พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ที่เตรียมตั้งพรรคเพื่อชาติไทย เป็นพรรคตัวกลางเชื่อมประสานระหว่างฝ่ายปฏิวัติกับฝ่ายประชาธิปไตย
นอกจากนี้ หัวเรือใหญ่ กปปส. อย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เดินหน้าหากลุ่มการเมืองที่มีอุดมการณ์ตรงกัน แต่คาดว่านายสุเทพไม่ได้นั่งหัวหน้าพรรคเอง ซึ่งงานนี้กระทบต่อฐานเสียงประชาธิปัตย์ในภาคใต้อย่างแน่นอน
ขณะเดียวกัน มีนักการเมืองเก่าที่แยกมาจากพรรคเพื่อไทยในอดีตกว่า 30 คน ร่วมก่อตั้งพรรคพลังพลเมืองไทย นำโดย “เสี่ยติ่ง” สัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ ที่จะนั่งหัวหน้าพรรคเอง และพร้อมจับมือทุกพรรค ชูจุดขายประสานงาน ลดเหลื่อมล้ำ ลดขัดแย้ง
ทั้งหมดเป็นเพียงการเตรียมเริ่มนับ 1 ตามขั้นตอนทางกฎหมาย ซึ่งการเปิดให้กลุ่มและพรรคการเมืองเริ่มทำกิจกรรม อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ คสช.ต้องการสยบความเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยให้เห็นเค้าลางของการเลือกตั้ง แม้ขณะนี้กฎหมายที่เกี่ยวข้องยังอยู่ในชั้นการพิจารณาของ สนช. – สำนักข่าวไทย