กรุงเทพฯ 25 ก.พ.-ในวันที่ 1 มีนาคมนี้เป็นต้นไป คำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 จะเปิดให้มีการจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ โดยคาดว่าจะมีพรรคการเมืองเกิดใหม่อีกอย่างน้อย 5 พรรคการเมือง
โดยหลังจากที่ กกต.จัดประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินกิจการพรรคการเมืองครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ให้กลุ่มการเมืองที่สนใจจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เพื่อชี้แจงหลักการของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 และคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ที่กำหนดให้วันที่ 1 มีนาคม 2561 เริ่มจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองได้ โดยขณะนี้กลุ่มการเมืองที่สนใจจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่มีหลากหลายกลุ่ม
เริ่มจากกลุ่มเพื่อชาติไทย นำโดยนางอัมพาพันธ์ ธเนศเดชสุนทร อดีตภรรยาของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และอดีตประธานคณะ รสช. และกลุ่มไทยศรีวิไลย์ นำโดย นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้ากลุ่มไทยศรีวิไลย์
นอกจากนี้ ยังต้องจับตากลุ่มการเมืองเก่าที่เตรียมจัดตั้งพรรคใหม่ หลังมีกระแสว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เตรียมจัดตั้งพรรคด้วย ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตสมาชิก สปช.และผู้จัดตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป เปิดเผยว่า ในวันที่ 2 มีนาคม จะส่งตัวแทนไปยื่นเตรียมการจัดตั้งพรรค หลังจากนั้นจะทำหนังสือถึงหัวหน้า คสช.เพื่อนัดประชุมปลายเดือนมีนาคมนี้ และเตรียมสรรหาสมาชิกพรรคให้ได้ครบตามจำนวน พร้อมย้ำจุดยืนว่าจะไม่รับนักการเมืองเก่าเข้าพรรคและพร้อมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก
ล่าสุด มีท่าทีจากพรรคประชาธิปัตย์ นายวัชระ เพชรทอง มองว่า การเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองใหม่สามารถหาสมาชิกพรรคได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ไม่เป็นธรรมกับพรรคเก่า ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและการดูดสมาชิกพรรค เนื่องจากพรรคเก่าจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ 1 เมษายน ที่คำสั่ง คสช.กำหนดให้แต่ละพรรคการเมืองยืนยันสถานะสมาชิกพรรค และมีทุนประเดิม พรรคละ 1 ล้านบาท หาสมาชิกพร้อมค่าบำรุงพรรคไม่น้อยกว่า 500 คน ภายใน 180 วัน และให้พรรคการเมืองจัดประชุมใหญ่ ปรับโครงสร้างบุคคลและข้อบังคับ จัดตั้งสาขาและตัวแทนประจำจังหวัด ภาคละ 1 สาขา ภายใน 90 วัน นับแต่ประกาศปลดล็อกให้พรรคการเมือง
อีกด้านหนึ่งมีท่าทีล่าสุดจากนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง ที่ออกมายืนยันจะไม่ลาออกตำแหน่ง กกต. แต่เตรียมเผยการตัดสินใจบางอย่างพรุ่งนี้ ซึ่งคาดว่า นายสมชัย จะประกาศลงสมัครเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ควบกับการดำรงตำแหน่ง กกต. หวังเป็นตัวประสานส่งต่องานระหว่าง กกต.เก่า และรอการได้มาของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่จะมี 7 คน หลังจากก่อนหน้านี้ สนช.มีมติคว่ำ 7 กกต.ไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา มีผลทำให้ต้องเริ่มสรรหาใหม่และใช้เวลาอย่างน้อย 90 วัน.-สำนักข่าวไทย