คนไทยกว่า 4.7 แสนคน ป่วย ‘โรคบาดแผลทางใจ’

กรมสุขภาพจิต 25 ก.พ.-รพ.จิตเวชสงขลาฯ พัฒนาเครื่องมือค้นหาผู้ป่วยโรคบาดแผลทางใจสำเร็จแห่งแรกในอาเซียน หลังกรมสุขภาพจิตสำรวจพบคนไทยป่วยโรคนี้กว่า 4.7 แสนคนโดยเฉพาะ 4 จังหวัดภาคใต้ โดยให้ตอบ 2 คำถาม ค้นหาสภาพจิตใจ นำไปสู่การเยียวยาได้ทันท่วงที   


น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชสงขลาราชนครินทร์ จ.สงขลา และศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 จ.ปัตตานี ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบาย ว่า นอกจากรพ.จิตเวชสงขลาฯจะเป็นศูนย์เชี่ยวชาญรักษาโรคจิตเวชที่มีความรุนแรงซับซ้อนยุ่งยากประจำเขตสุขภาพที่ 12 ได้แก่สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส  พัทลุง ตรัง และสตูล แล้ว กรมสุขภาพจิตมีนโยบายพัฒนาให้รพ.แห่งนี้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญการดูแลและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดมาจากภัยวิกฤติทุกประเภท  ที่มีความรุนแรงที่สุดคือโรคพีทีเอสดี (Post Traumatic Stress Disorder :PTSD) หรือโรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าโรคบาดแผลทางใจ ซึ่งในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเสี่ยงเกิดโรคนี้ได้สูงกว่าพื้นที่อื่น เนื่องจากมีเหตุการณ์ความไม่สงบอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2547- เดือนธันวาคม 2560 มีรายงานเกิดเหตุการณ์ทั้งหมด 19,622 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 6,703 ราย และบาดเจ็บรอดชีวิต 13,247 คน     


อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิต ในปี 2556 พบคนไทยอายุ18 ปีขึ้นไป ป่วยโรคพีทีเอสดีตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมาร้อยละ 0.9 คาดขณะนี้ทั่วประเทศจะมีคนเป็นโรคนี้ประมาณ 470,000 คน จึงต้องเร่งป้องกันโดยค้นหาผู้ป่วยให้ได้เร็วที่สุดและให้การดูแลอย่างต่อเนื่องจนหมดความเสี่ยง ขณะนี้รพ.จิตเวชสงขลาได้วิจัยและพัฒนาเครื่องมือค้นหาโรคพีเอสดีเป็นผลสำเร็จ มีเพียงคำถาม 2 คำถาม คือ 1. ประสบการณ์เผชิญเหตุสะเทือนใจอย่างรุนแรงในชีวิต เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกจับเป็นตัวประกัน สูญเสียบุคคลใกล้ชิดอย่างกะทันหัน ภัยพิบัติต่างๆ ทำให้มีอาการทางจิตใจเกิดขึ้น  เช่นตื่นตัวตลอดเวลาหรือหวนระลึกถึงเหตุการณ์ซ้ำๆ และ 2. เหตุการณ์มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน เช่นกินไม่ได้ นอนไม่หลับ โดยผลการทดสอบพบว่าให้ผลแม่นยำสูงถึงร้อยละ 89  เครื่องมือชนิดนี้ยังไม่เคยมีใช้ที่ไหนมาก่อน จึงนับเป็นความสำเร็จแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน จะช่วยให้บุคลากรการแพทย์ค้นหาปัญหาทางจิตใจได้เร็ว สามารถให้การเยียวยาได้อย่างทันท่วงที จะช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคนี้ได้ร้อยละ 90 ขณะนี้กรมฯได้ขยายผลใช้ทั่วประเทศแล้ว สามารถใช้ได้กับทุกเหตุการณ์รุนแรง และได้ให้ศูนย์สุขภาพจิตที่12แปลเป็นภาษามลายูใช้ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างด้วย 


ด้าน พญ.บุญศิริ  จันศิริมงคล ผู้อำนวยการรพ.จิตเวชสงขลาราชนครินทร์ กล่าวว่าขณะนี้รพ.ได้เผยแพร่แบบประเมินหาโรคพีทีเอสดีทางอินเทอร์เน็ต ทาง www.skph.go.th เพื่อให้ประชาชนที่เผชิญวิกฤติต่างๆหรือเหตุการณ์ที่เลวร้ายในชีวิต ใช้ประเมินตัวเองได้จากระบบเสียงและข้อความ ใช้เวลาไม่ถึง 1 นาทีก็ทราบผล หากพบว่ามีความเสี่ยงเกิดโรคพีทีเอสดีจะมีคำแนะนำให้พบจิตแพทย์ที่รพ.จิตเวชทั่วประเทศ หรือปรึกษาสายด่วน 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง และอยู่ระหว่างพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่น เพื่อให้ความรู้ประชาชน และใช้ประเมินความเสี่ยงของตนเองได้สะดวกขึ้นทางมือถือ  

พญ.บุญศิริ กล่าวต่อว่า โรคพีทีเอสดีหรือบาดแผลทางใจ เป็นโรคจิตเวชที่เกิดภายหลังเหตุวิกฤติต่างๆ มีผลกระทบรุนแรงต่อผู้เผชิญเหตุการณ์หรือรอดชีวิต  หากเกิดกับเด็กและวัยรุ่นจะมีผลต่อพัฒนาการทางสมอง  บุคลิกภาพ และอารมณ์ ทำให้ไม่มีสมาธิในการเรียนหรือทำสิ่งต่างๆ บางครั้งทำให้เด็กรู้สึกตนเองไม่มีคุณค่า  อาจกลายเป็นคนเก็บตัว อารมณ์ถูกกระตุ้นได้ง่าย อาจกลายเป็นคนก้าวร้าว หรือซึมเศร้า หากเกิดในหญิงตั้งครรภ์ บาดแผลทางใจจะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนบางตัวออกมาเช่น คอร์ติซอล ( Cortisol) สามารถผ่านทางรก ทำให้เด็กในครรภ์มีขนาดศีรษะเล็กกว่าปกติ  มีผลต่อพัฒนาการของสมองและมีผลต่อสติปัญญา อาการของโรคพีทีเอสดีนี้ สามารถเกิดขึ้นได้แม้เหตุการณ์จะผ่านไปแล้วนานกว่า 6 เดือนก็ตาม   

ทั้งนี้ อาการเด่นของโรคมี 8 อาการ คือ1.นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท 2.หงุดหงิดง่าย 3.ฝันร้ายระลึกถึงเหตุการณ์ร้ายนั้นซ้ำๆ 4.เฉยเมยต่อญาติและเพื่อนๆ 5. รู้สึกผิดที่ตนเองรอด ขณะที่คนอื่นตาย 6. ตกใจง่ายเมื่อเกิดอะไรผิดปกติรอบตัว เช่นผวาอย่างรุนแรงเมื่อได้ยินเสียงดัง 7. รู้สึกบ่อยๆว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นซ้ำอีก และ8. ไม่ยอมเข้าใกล้สถานที่หรือสถานการณ์ที่ชวนให้นึกถึงเหตุร้ายนั้นซ้ำอีก   

สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคพีทีเอสดีที่มารับบริการที่รพ.จิตเวชสงขลาราชนครินทร์ในรอบ 1 ปีมานี้มีประมาณ 30 คน  มักพบมีโรคทางจิตเวชอื่นๆร่วมด้วย ได้แก่ โรคซึมเศร้าพบร้อยละ 90 รองลงมามีความคิดฆ่าตัวตายพบร้อยละ 55 ใช้สารเสพติด ร้อยละ 16 และใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 7  แต่หลังจากได้รับการรักษาเป็นเวลา 6 เดือน พบว่าร้อยละ 96 อาการดีขึ้น .-สำนักข่าวไทย 

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

แทงหนุ่มวิศวะ

จับได้แล้ว! เยาวชน 16 ปีมือแทงหนุ่มวิศวะดับชิงเสื้อช็อป

รวบ 3 โจ๋แทงหนุ่มวิศวะปี 4 ดับสลดขโมยเสื้อช็อป พร้อมยึดของกลางที่ใช้ก่อเหตุ มือแทงสารภาพอ้างอารมณ์ชั่ววูบ อยากขอโทษครอบครัวผู้ตาย บอกจะบวชให้หลังออกคุก

สธ.มอบฟันเทียม 45,000 ราย เนื่องในวันผู้สูงอายุแห่งชาติ

13 เมษายน วันผู้สูงอายุแห่งชาติ สธ.เปิดโครงการ “รอยยิ้มใหม่ผู้สูงวัย 2568” มอบฟันเทียม 45,000 ราย ส่งเสริมสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

วัยรุ่นรุมแทง นศ.วิศวะดับ ปล้นเสื้อช็อป-มือถือ

ตำรวจไล่เช็กวงจรปิดตามล่าแก๊งโจ๋นับสิบ หลังก่อเหตุสลด! รุมแทงนักศึกษาวิศวะเสียชีวิต ขณะขี่จักรยานยนต์กลับบ้าน ก่อนปล้นเอาเสื้อช็อปและมือถือหลบหนี

ค้นที่พักไฮโซเก๊ พบรูปภาพ-ชุดขาวประดับเครื่องหมายจัดเต็ม

ตำรวจกองปราบปรามขยายผลเพิ่ม ออกหมายจับไฮโซเก๊ อายัดตัวจากเรือนจำตรวจค้นที่พัก พบรูปภาพและชุดขาวประดับเครื่องหมายต่างๆ จัดเต็ม

ข่าวแนะนำ

นายกฯ ควง “ทักษิณ” ร่วมงาน “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองสันกำแพง”

นายกฯ ควง “ทักษิณ” ร่วมงาน “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองสันกำแพง” ร่วมพิธีสระเกล้าดำหัวคุณย่า ปักตุงประจำวันเกิด ที่ชุมชนโหล่งฮิมคาว เผย รู้สึกผูกผันกับสันกำแพงเพราะเป็นบ้านเกิดพ่อ ก่อนช้อปสินค้าชุมชนทุกร้าน

เล่นน้ำสงกรานต์

สีสันสงกรานต์ หลายจังหวัดจัดงานสุดชุ่มฉ่ำ

สกลนครคึกคัก แห่เล่นน้ำคลองเขื่อนน้ำอูน สร้างรายได้สะพัด ส่วนที่ชัยภูมิ จัดงานรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ เฮฮากีฬามหาสนุก

แทงหนุ่มวิศวะ

จับได้แล้ว! เยาวชน 16 ปีมือแทงหนุ่มวิศวะดับชิงเสื้อช็อป

รวบ 3 โจ๋แทงหนุ่มวิศวะปี 4 ดับสลดขโมยเสื้อช็อป พร้อมยึดของกลางที่ใช้ก่อเหตุ มือแทงสารภาพอ้างอารมณ์ชั่ววูบ อยากขอโทษครอบครัวผู้ตาย บอกจะบวชให้หลังออกคุก

กรมอุตุฯ เตือน “เหนือ-กลาง” เฝ้าระวังพายุฤดูร้อน

กรมอุตุฯ เผย “ภาคเหนือ-ภาคกลาง” ยังคงมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก ส่วนภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น