สุรินทร์ 21 ก.พ. – “9 เศรษฐกิจ BIZ TIME” เคยนำเสนอนวัตกรรม “ผ้าไหมยีนส์” ที่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 วันนี้จะพาไปดูเบื้องหลังที่มาของการคิดค้น “ผ้าไหมยีนส์” ซึ่งเป็นไอเดียสุดบรรเจิด ฝีมือคนไทยที่ จ.สุรินทร์
ผ้าไหมเนื้อละเอียด ลวดลายอ่อนช้อยงดงาม สอดสี-สลับซับซ้อน ฝีมือการมัดลายทอมือ จากภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นของชาวบ้าน โดยเฉพาะในกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนล่างที่เรียกว่า “นครชัยบุรินทร์” ประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ แต่ตลาดผ้าไหมที่ไม่ขยายตัว เพราะไม่เข้ากับรสนิยมของคนรุ่นใหม่ ทำให้ต้องคิดค้นนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาแทน
ผ้าไหมยีนส์ ทอขึ้นจากเส้นไหมหยาบ หรือ Kibiso ซึ่งเป็นส่วนนอกสุดของรังไหม กับสูตรผสมที่เป็นความลับทางการค้าและยื่นจดสิทธิบัตรแล้ว จากที่ผ่านมาไหม Kibiso เป็นส่วนที่ขายไม่ค่อยได้ราคาและไม่ได้รับความนิยมมากนัก ส่วนใหญ่มีเฉพาะตลาดประเทศญี่ปุ่น ที่นำไปใช้เป็นผ้าหุ้มเบาะ เฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่ง แต่เมื่อเรือนไหม-ใบหม่อน คิดค้นเป็นผ้าไหมยีนส์ได้สำเร็จ ก็ช่วยเพิ่มมูลค่าได้ถึง 3 เท่าตัว
หากไม่บอกว่าทำจากเส้นไหม คงยากที่จะรู้ได้ว่าเป็นไหมยีนส์ แต่สำหรับคนที่ทำงานกับผ้าจะสัมผัสได้ถึงความแตกต่าง ทั้งกลิ่นเฉพาะของผ้าไหม เนื้อผ้าที่ละเอียดกว่ายีนส์ธรรมดา แต่อยู่ทรงกว่าผ้าที่ผสมใยสังเคราะห์ ทำให้เมื่อนำผ้าไหมยีนส์มาตัดเสื้อสูท จะไม่ต้องอัดกาวด้านในเหมือนสูททั่วไป ที่สำคัญยังคงคุณสมบัติของผ้าไหมที่ใส่สบาย แต่ทนทาน และดูแลรักษาง่าย ใส่เครื่องซักผ้าได้เหมือนผ้ายีนส์
ห้างหุ้นส่วนจำกัด เรือนไหม-ใบหม่อน อยู่ในธุรกิจเส้นไหมและผ้าไหมมานานกว่า 30 ปี โดยเข้าไปลงทุนฟื้นฟูการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ในนิคมสร้างตนเองเลี้ยงไหม อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ และร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เครือข่ายชาวบ้านในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ราว 300 ราย ทำธุรกิจไหมครบวงจร แต่ยอมรับว่าถนัดเรื่องการทำผ้ามากกว่า และพร้อมติดต่อเจรจาธุรกิจกับดีไซเนอร์ หรือผู้ที่ต้องการนำผ้าไหมยีนส์ไปตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ. – สำนักข่าวไทย