กรุงเทพฯ 20 ก.พ. – กสิกรไทยมองจีดีพีไทยยังโตต่ำกว่าศักยภาพ ชี้นักลงทุนรอการเลือกตั้ง กระตุ้นกำลังซื้อและการลงทุน เตือนบาทผันผวนกรอบ 30.80-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
นายกอบสิทธิ์ ศิลป์ชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจปี 2560 ที่สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศเติบโตร้อยละ 3.9 ว่า เป็นการเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ ซึ่งควรจะเติบโตร้อยละ 5 และเกือบต่ำสุดในภูมิภาค เป็นรองเพียงสิงคโปร์เท่านั้น เพราะแม้การส่งออกจะดีขึ้น แต่อุปสงค์ในประเทศยังไม่ฟื้นตัว โดยธนาคารกสิกรไทยคาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวร้อยละ 4 เพราะยังรอการลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัว ซึ่งนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศยังรอความชัดเจนเรื่องการปฏิรูปการเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้ง หากมีการเลือกตั้งปลายปีนี้ตามโรดแมพที่วางไว้จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นและการลงทุนภาคเอกชนจะตามมา แต่หากเลื่อนออกไปอาจจะทำให้โครงการลงทุนเอกชนชะลอออกไปก่อน
นอกจากนี้ หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นปลายปีนี้ บรรดาพรรคการเมืองจะมีการหาเสียง โดยเน้นนโยบายช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งมีกว่า 10 ล้านคนจะทำให้เม็ดเงินกระจายสู่ภาคการเกษตรและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ธุรกิจขายปุ๋ย วัตถุดิบการเกษตร เป็นต้น ทำให้บรรยากาศและกำลังซื้อเกษตรกรกลับมาคึกคัก
นายกอบสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ปีนี้ต้องจับตาการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เนื่องจากมีความผันผวนสูง โดยธนาคารกสิกรไทยมีการปรับประมาณการมาแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดคาดว่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าสุดในรอบ 5 ปี ที่ 30.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลที่เงินบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลในระดับสูงมาจากการท่องเที่ยวขยายตัวดี โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยจำนวนมาก และทิศทางของเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง หลังสหรัฐมีท่าทีพอใจที่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า อย่างไรก็ตามมองว่าหลังสงกรานต์เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่า เนื่องจากจะมีการจ่ายปันผลของบริษัทจดทะเบียนประมาณ 37,000 ล้านบาท เงินทุนต่างชาติจะเริ่มไหลออก ประกอบกับหมดฤดูกาลท่องเที่ยว การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจะน้อยลง เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า โดยคาดว่าจะอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายปี
นายกอบสิทธิ์ กล่าวว่า มาตรการดูแลเงินบาทอาจมีข้อจำกัด เพราะถ้าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าแทรกแซงค่าเงินบาทจะสุ่มเสี่ยงต่อการที่สหรัฐอาจจะใช้เป็นข้ออ้างใช้มาตรการกีดกันทางการค้าไทย เพราะขณะนี้ประเทศไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึงร้อยละ 8 ของจีดีพี หากไทยแทรกแซงค่าเงินเกินร้อยละ 2 อาจจะสุ่มเสี่ยงเข้าเงื่อนไขสหรัฐกีดกันทางการค้าไทย แม้ว่าประเทศไทยอาจไม่ใช่เป้าหมายเหมือนจีนกับเม็กซิโก ก็ตาม.- สำนักข่าวไทย