กรุงเทพ 18 ก.พ.- รัฐบาลผนึกกำลังทุกภาคส่วน เตรียมคนไทย 4.0 รองรับศตวรรษที่ 21 ชูหลักคิดพื้นฐาน 5 ประการ เชื่อมโยงความดีงามตามแบบไทยนิยม นำพาสังคมไปสู่ความเจริญก้าวหน้า
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยคณะอนุกรรมการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งแต่งตั้งโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินหน้าผนึกกำลังกับเครือข่ายภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคม เพื่อปลูกฝังหลักคิด 5 ประการสู่สังคม ได้แก่ ความพอเพียง มีวินัย สุจริต จิตสาธารณะ และมีความรับผิดชอบ ให้สอดรับกับโมเดลพัฒนาคนไทย 4.0 ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งหลักคิดทั้ง 5 ประการ จะช่วยให้คนไทยมีความเข้มแข็งทางจิตใจ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถแก้ปัญหาชีวิตของตนเองด้วยวิถีทางที่ถูกต้องมากขึ้น ลดพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น อบายมุข หรือยาเสพติด การไม่รักษาวินัย ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ขาดดุลพินิจในการพิจารณาสิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำ เป็นต้น
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นอย่างมาก เพราะเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยย้ำว่าหลักคิด 5 ประการ เป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตทั้งปวงที่จะช่วยเตือนสติและยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ซึ่งจะต้องเชื่อมโยงกับความดีงามตามแนวทางไทยนิยมยั่งยืน ที่จะนำพาสังคมไปสู่ความเจริญก้าวหน้า
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า สำหรับคำจำกัดความของหลักคิดแต่ละด้าน ประกอบด้วย ความพอเพียง หมายถึง การดำเนินชีวิตแบบมีเหตุผล คิดตัดสินใจอย่างรอบคอบ ไม่เบียดเบียนตนเอง สังคม และสิ่งแวดล้อม วินัย หมายถึง การยึดมั่นในหน้าที่ของตน ปฏิบัติตามจริยธรรม จรรยาบรรณ เคารพกฎหมาย สุจริต หมายถึง ความซื่อสัตย์ ยึดมั่นในความจริง ความถูกต้อง และความเป็นธรรม จิตสาธารณะ หมายถึง ใส่ใจต่อสังคม อาสาทำสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ของตน เพื่อหวังประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ และความรับผิดชอบ หมายถึง รับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเองพูดและทำ ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม
“นายกรัฐมนตรี ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการสนับสนุนการทำงานของคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว โดยในเร็ว ๆ นี้จะมีการประกาศเจตนารมณ์เพื่อขับเคลื่อนหลักคิดเพื่อพัฒนาคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 และรณรงค์ให้คนในสังคมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ ผ่านองค์กรเครือข่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคประชาสังคมทั่วประเทศที่มีความเข้มแข็งเป็นอย่างมาก” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว.-สำนักข่าวไทย