อสมท 16 ก.พ.-การแก้ไข้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งอย่างจริงจังของไทย ทำให้ตัวเลขพื้นที่ประสบปัญหาจากระยะทาง 800 กิโลเมตร เหลือพื้นที่มีปัญหาเพียง 145 กิโลเมตร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะนำแนวทางบริหารและป้องกันที่มีประสิทธิภาพมาปรับใช้ ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูได้รวดเร็วและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง เป็นปัญหาเรื้อรังของไทย แม้จะมีการแก้ไขจากหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง นำโครงสร้างทางวิศวกรรมมาใช้เพื่อป้องกันการกัดเซาะเฉพาะจุด เป็นแค่ป้องกันได้ชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บอกว่า โครงสร้างขนาดใหญ่ และสิ่งก่อสร้างล้ำแนวชายฝั่ง ยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะเขื่อนกั้นปากร่องน้ำ กำแพงกันคลื่น และเขื่อนหินนอกฝั่ง ที่ทำให้ชายฝั่งใกล้เคียงเกิดการกัดเซาะที่รุนแรงยิ่งขึ้น
โดยผลสำรวจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งหรือ ทช. ล่าสุด ปี 2560 ในพื้นที่ 23 จังหวัดชายฝั่งทะเล พบว่าไทยมีปัญหากัดเซาะชายฝั่งที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขรวมระยะทางประมาณ 145 กิโลเมตร หรือร้อยละ 5 ของความยาวชายฝั่งทะเล โดยพบว่าพื้นที่ตั้งแต่นครศรีธรรมราช ลงมาถึงนราธิวาส เกิดการกัดเซาะมากที่สุด โดยจังหวัดสงขลามีการกัดเซาะรุนแรงกว่า 12 กิโลเมตร ปัตตานี 7 กิโลเมตร นครศรีธรรมราชกว่า 4.4 กิโลเมตร ส่วนสมุทรปราการกัดเซาะรุนแรงถึง 7.3 กิโลเมตร สำหรับ กทม. ไม่พบการกัดเซาะเพิ่มเติมด้วยมีระบบป้องกันที่เพิ่มขึ้น
อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บอกว่า ไผ่ชะลอคลื่นเป็นอีกวิธีการที่ทดลองแล้วได้ผลดี ช่วยเพิ่มตะกอนดิน ตะกอนทราย ฟื้นฟูเป็นป่าชายเลนอีกครั้ง โดยจะปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่กัดเซาะทั้ง 145 กิโลเมตร นอกจากนี้ได้นำวิธีบริหารจัดการเชิงพื้นที่ระบบกลุ่มหาด ซึ่งเป็นระบบใหม่เข้ามาจัดการ ทำให้วางแผนแก้ไขการกัดเซาะโดยไม่กระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง
สำหรับในปี 2561 ทช. จะดำเนินการกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ในพื้นที่ที่มีสภาพสวยงามตามธรรมชาติ และมีศักยภาพในการท่องเที่ยว จำนวนทั้งสิ้น 31 ระบบหาดย่อย ในพื้นที่ 16 จังหวัดชายฝั่งทะเล เพื่อรักษาและฟื้นคืนสภาพพื้นที่ชายฝั่งทะเลของไทยให้สมบูรณ์.-สำนักข่าวไทย