กรุงเทพฯ 9 ก.พ. – รมว.พลังงานตอกย้ำพื้นที่เทพาอาจไม่เหมาะสมสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ โยน กฟผ.สรุปยืนยัน ส่วนประมูลบงกช – เอราวัณมั่นใจ มี.ค.ประกาศทีโออาร์ได้แน่นอน สั่งพลังงานจังหวัดทั่วประเทศสนองนโยบาย “ไทยนิยม ยั่งยืน”
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ร่างทีโออาร์เพื่อเปิดประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่หมดอายุปี 2565-2566 คือ แหล่งเอราวัณ- บงกช จะสรุปทั้งหมดและเข้า ครม. เพื่อประกาศเชิญชวนประมูลเดือนมีนาคม หลังจากนั้นจะใช้เวลาคัดเลือกเสร็จสิ้น 5-6 เดือน โดยหลักการสำคัญ คือ ผู้ชนะประมูลจะต้องรักษาระดับการผลิตรวมทั้ง 2 แหล่ง ไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และราคาจะต้องสูงกว่าราคาปัจจุบัน และสัญญาประมูลจะแบ่งออกเป็น 2 สัญญา
ส่วนเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ได้ยืนยันหลักการเช่นเดียวกับโรงไฟฟ้ากระบี่ คือ ขอศึกษารอบคอบ 3 ปี โดยในส่วนของเทพานั้น ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ศึกษายืนยันชัดเจนว่าพื้นที่ปัจจุบันที่ศึกษาออกแบบมานั้นเป็นพื้นที่เหมาะสมสำหรับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ 2,000 เมกะวัตต์จริงหรือไม่ เพราะมีพื้นที่สาธารณะจำนวนมากและยังมีพื้นที่สุสานหรือกุโบร์ที่ยังมีปัญหาถูกหยิบยกมาคัดค้าน หาก กฟผ.สามารถยืนยันได้ชัดเจนว่าเหมาะสมอาจเดินหน้าก็ได้ แต่หากไม่เหมาะสมก็ต้องหาพื้นที่อื่น ๆสำหรับสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งอาจจะเป็นพื้นที่อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาคใต้ก็ได้
“โรงไฟฟ้าถ่านหินในแผนไฟฟ้าระยะยาวหรือพีดีพีฉบับใหม่ต้องมีแน่ เพราะเราคงไม่สามารถพึ่งพาก๊าซธรรมชาติอย่างเดียว แต่ต้องดูพื้นที่ด้วย โดยในส่วนของเทพาหากจำเป็นต้องย้ายพื้นที่ ทาง กฟผ.ก็คงต้องพูดคุยกับชาวบ้านที่สนับสนุนให้เข้าใจ โดยช่วง 3 ปีนี้จะศึกษาชัดเจน หากพื้นที่ไม่เหมาะสมก็คงไม่ดันทุรังก่อสร้าง” รมว.พลังงาน กล่าว
รมว.พลังงานยังมั่นใจว่าด้วยว่าแผนงานขยายคอขวดสายส่งไฟฟ้าจากขนอม- สุราษฎร์ธานี และจะนะ- ภูเก็ต จะทำให้เกิดความมั่นคงระบบไฟฟ้าภาคใต้ช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ทำให้โรงไฟฟ้าจะนะ- ขนอม ผลิตไฟฟ้าป้อนภาคใต้ได้เต็มที่รวม 2,400 เมกะวัตต์ จากขณะนี้ภาคใต้มีความต้องการรวม 2,650 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ รมว.พลังงานยังได้มอบนโยบายแก่พลังงานจังหวัดทั่วประเทศขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน : ไทยนิยม ยั่งยืน ซึ่งเบื้องต้นจะเป็นการบูรณาการการขับเคลื่อนงาน โครงการของหน่วยงานต่าง ๆ จากรัฐบาลที่มีเป้าหมายลงพื้นที่ในระดับหมู่บ้านตามแนวทางนโยบายประชารัฐ พร้อมพัฒนาแก้ไขปัญหาในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ไปจนถึงการสร้างความตระหนักรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของประชาชน ในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศตามระบอบประชาธิปไตย มีการสนับสนุนด้านการวางแผนพลังงานชุมชน ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่เหมาะสมต่อศักยภาพในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อเร่งสร้างงานสร้างอาชีพให้ชุมชน หรือสร้างผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น ผ่านการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีพลังงานทดแทน อาทิ ระบบสูบน้ำแสงอาทิตย์ ระบบอบแห้งแสงอาทิตย์เพื่ออบแห้งสินค้าการเกษตร ระบบอบแห้งแสงอาทิตย์ในบ่อเลี้ยงปลา พลังงานน้ำระดับชุมชน การส่งเสริมการใช้เตาประสิทธิภาพสูง เป็นต้น. – สำนักข่าวไทย