กรุงเทพฯ 7 ก.พ. – บีซีพีจีร่วมขับเคลื่อน EEC สู่ Thailand 4.0 สร้าง New Energy Economy ในนิคมฯ Smart Park จ.ระยอง
วันนี้ (7 ก.พ.2561) บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) จับมือพันธมิตร 6 หน่วยงาน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บีซีพีจี กล่าวว่า บริษัทได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC : นิคมอุตสาหกรรม Smart Park กับ กนอ. โดยใช้พลังงานสะอาดมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Development) และเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในกลุ่ม New S-Curve โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหรือมีนวัตกรรมในการต่อยอด โดยจะนำนวัตกรรมระดับโลกในธุรกิจพลังงานสะอาดมาใช้ในการสร้าง New Energy Economy ใน Smart Park นอกเหนือไปจากการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปและซื้อขายไฟฟ้าผ่านอินเทอร์เน็ต ด้วยการพัฒนาระบบการบริหารจัดการพลังงาน (Demand Side Management) และระบบสาธารณูปโภคอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
“บีซีพีจีจะศึกษาและพัฒนาการบริหารจัดการความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าจากเทคโนโลยีพลังงานสะอาด สร้างนวัตกรรมพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ด้วยเทคโนโลยี Blockchain ที่ทันสมัยและเหมาะสม รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาและบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภคอื่น ๆ เพื่อการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพให้สอดคล้องกับพื้นที่และสภาพแวดล้อมของโครงการฯ และจะใช้โครงการดังกล่าวเป็นต้นแบบในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต” นายบัณฑิตกล่าว
สำหรับความร่วมมือครั้งนี้เป็นไปตามแผนขยายธุรกิจ 3 ปีของบริษัท ซึ่งจะลงทุนธุรกิจพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งปี 2561 บริษัทฯ มีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าอีก 200 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 600 เมกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2560 โดยวางแผนไว้ว่า170 เมกะวัตต์จะมาจากธุรกิจ Wholesale ทั้งในและต่างประเทศ ส่วนอีก 30 เมกะวัตต์ จะมาจากกำลังการผลิตไฟฟ้าในส่วนที่เป็น Retail ผ่านธุรกิจโซลาร์รูฟท็อปในประเทศในรูปแบบต่าง ๆ
ทั้งนี้ โครงการนิคมอุตสาหกรรม Smart Park ตั้งอยู่บริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง เป็นส่วนหนึ่งของนิคมอุตสาหกรรมาบตาพุด จังหวัดระยอง พื้นที่ประมาณ 1,466 ไร่ เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง พิจารณาการลงทุน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมใน New S-Curve ที่สามารถต่อยอดจากแหล่งวัตถุดิบเม็ดพลาสติกซึ่งเป็นวัตถุดิบแหล่งใหญ่ที่สุดของประเทศที่อยู่ในพื้นที่มาบตาพุดเชื่อมโยงระหว่างกันเหมาะสมกับพื้นที่และชุมชน ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) 2. อุตสาหกรรมการบิน อวกาศและโลจิสติกส์ (Aerospace and Logistics) 3. อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) 4. อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub). – สำนักข่าวไทย