กรุงเทพฯ 7 ก.พ.-สนพ.ระบุมีความจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าหลักในภาคใต้เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ขณะที่เกาะกง ยูติลิตี้ พร้อมส่งไฟจากกัมพูชามาให้ภาคใต้
ในการเสวนาเรื่อง “ผ่าทางตัน:โรงไฟฟ้าถ่านหิน” จัดโดยชมรมคอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ไทย นายทวารัฐ สูตบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ย้ำว่า ระบบไฟฟ้าภาคใต้ยังมีความเสี่ยง ยังต้องการโรงไฟฟ้าหลักเพิ่ม เพราะการเชื่อมสายส่งไฟฟ้าเพื่อส่งไฟฟ้าลงไปจากภาคกลางไปสู่ภาคใต้นั้น สามารถส่งไฟฟ้าได้ไม่เกิน 650 เมกะวัตต์เท่านั้น และอาจส่งได้ลดลงหากเกิดภาวะฝนฟ้าคะนอง ขณะที่ภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าถึงวันละ 2,600 เมกะวัตต์ในช่วงไฮซีซันของการท่องเที่ยวในเดือนมีนาคมของทุกปีช่วงกลางคืน ซึ่งช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดหรือ พีค ต่างจากภาคกลางกรุงเทพที่ความต้องการใช้พีคในช่วงกลางวัน โดยบ้านเรือนใช้ไฟฟ้าร้อยละ 32 ท่องเที่ยวร้อยละ 36 โรงงานร้อยละ 27 และส่วนอื่น ๆ ใช้ไฟฟ้าร้อยละ 5 ดังนั้นภาคใต้ จึงมีความจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าหลักเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาการสร้างโรงไฟฟ้าหลักต่อไป โดยพิจารณา ทั้งเชื้อเพลิงและสถานที่
นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า ในปัจจุบันและในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ยังไม่มีความจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้ แต่ภาคใต้เศรษฐกิจเติบโตสูงกว่าภาคอื่น ส่งผลให้ความต้องการกระแสไฟฟ้าสูงกว่าภาคอื่นๆ ไปด้วย โดยความต้องการใช้ไฟฟ้าโตประมาณร้อยละ 5 ต่อปี ส่งผลให้ในอีก 5 ปีข้างหน้า ความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้จากที่ปัจจุบันมีความต้องการวันละ 2,500-2,600 เมกะวัตต์ต่อวัน จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 500 เมกกะวัตต์ต่อวัน ส่งผลให้กำลังผลิตที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ซึ่งอาจส่งไฟฟ้าจากภาคกลางลงไปเสริมหรือซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซียเข้ามาเสริมเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ภาคใต้จึงเกิดภาวะไม่มีเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าเกิดขึ้น และทำให้มีจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้ที่ต้องศึกษาความเหมาะสมต่อไป
ด้านปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศไทย โดยภาพรวมมีเพียงพอ โดยพิจารณาจากความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 28,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศ มีสูงกว่าคิดเป็นร้อยละ 30 สาเหตุที่ปริมาณสำรองไฟฟ้ามีอยู่สูง เนื่องจากได้วางแผนการผลิตไฟฟ้าไว้ตามคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ว่าเศรษฐกิจโตร้อยละ 3.4 -4.1 แต่ 10 ปีที่ผ่านมาการเติบโตจริงน้อยกว่าคาดการณ์บางปีโตร้อยละ 2 หรือร้อยละ 1 บางปีโตเศรษฐกิจไทยโตไม่ถึงร้อยละ 1 อย่างไรก็ตาม ปริมาณสำรองไฟฟ้าที่สูงร้อยละ 30 เป็นปริมาณสำรองที่ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งหากมีปัญหาติดขัดในเรื่องแหล่งก๊าซ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ก็จะทำให้สูญเสียกำลังผลิตสำรองไฟฟ้าทันที ที่สำคัญกำลังการผลิตไฟฟ้าจะต้องเป็นกำลังการผลิตที่พึ่งพาได้ในเชิงเศรษฐศาสตร์ และไม่แพงเกินไป
ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าในภาคใต้ 2,160 เมกะวัตต์ ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่อยู่ที่ 2,500 เมกะวัตต์ต่อวัน ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ยังขาดอยู่ทำให้ปัจจุบันต้องส่งจากภาคกลางไปช่วยอีก 460 เมกะวัตต์ต่อวัน เมื่อรวมกันจะทำให้มีกำลังไฟฟ้ารวม 2,600 เมกะวัตต์ จึงเพียงพอในช่วงที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดหรือช่วงพีคของภาคใต้
นายธีรพจน์ กษิรวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเกาะลันตา กล่าวว่า การศึกษาโรงไฟฟ้ากระบี่ ยังไม่ตอบโจทย์การพัฒนาของจังหวัดกระบี่และการท่องเที่ยวฝั่งทะเลอันดามัน ที่ผ่านมาการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างโรงไฟฟ้าที่กระบี่ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ใช้ข้อมูลเท็จมานำเสนอในรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และไม่มีการศึกษาข้อมูลทางเศรษฐกิจทางประมง หากได้รับผลกระทบจะกระทบในวงกว้าง และหากมีการจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นที่กระบี่จริง เชื่อว่าอาจซ้ำรอยกับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่แม่เมาะ และการเก็บข้อมูลปัจจุบันไม่มีการเก็บตัวอย่างเลือดประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นต้องศึกษาให้ครบถ้วนรอบด้าน ปัจจุบันมีการแยกการศึกษาการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่กับท่าเรือออกจากกัน ทำให้ไม่ต้องทำการศึกษาผลกระทบด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพหรือ EHIA ขณะเดียวกันพื้นที่ที่จะสร้างโรงไฟฟ้าที่กระบี่ ปรากฎว่า มีค้างคาวแม่ไก่อยู่ แสดงถึงความอุดมสมบรูณ์ของพื้นที่ ขณะที่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนจังหวัดกระบี่เป็นกลุ่มที่ให้ความสนใจท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ
นายบรรพต แสงเขียว ประธานบริษัท เกาะกง ยูติลิตี้ จำกัด กล่าวว่า บริษัทในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้า พร้อมเป็นทางเลือกที่จะช่วยแก้ปัญหาความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ เพราะบริษัทมีโครงการที่จะลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเกาะกง ขนาดกำลังการผลิต 4,000 เมกะวัตต์ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา จึงพร้อมที่จะส่งไฟฟ้ามายังภาคใต้ ระยะทาง 1,150 กิโลเมตรที่อำเภอหลังสวน จ.ชุมพร โดยจะขายไฟฟ้าให้ กฟผ.ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะ 30-35 ปี ที่ราคาเฉลี่ย 2.67-2.86 บาทต่อหน่วย โดยบริษัทจะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างสายส่งและโอนกรรมสิทธิ์ให้ กฟผ.โดยขอใช้สิทธิ์ในสายส่งเป็นเวลา 30-35 ปี สำหรับแผนการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าเกาะกง แบ่งเป็น 4 ระยะคือ ระยะแรกกำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์ ประมาณปี 2567 และโรงไฟฟ้าเกาะกง ระยะที่ 2-4 ประมาณปีพ.ศ. 2568 ปี 2569 และปี พ.ศ.2570 ตามลำดับ โครงการนี้ การลงทุนและถือหุ้นใหญ่โดยรัฐวิสาหกิจจีน รวมทั้งเงินทุน และเทคโนโลยี ดังนั้นจากความสัมพันธ์การเมืองที่พัฒนาของกลุ่มประเทศอาเซียนและข้อตกลงต่าง ๆ ทำให้ไม่น่าจะมีกระทบจากการเมืองต่อการส่งไฟฟ้ามายังภาคใต้ของประเทศไทย- สำนักข่าวไทย