รัฐสภา 7 ก.พ.-กรรมการปฏิรูปตำรวจยกเครื่องโรงพัก 1,400 แห่งทั่วประเทศ หวังยกระดับการทำงานให้ทันสมัย รองรับการเปลี่ยนแปลงโลก อาชญากรรมใหม่ พร้อมแก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์
นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานอนุกรรมการด้านสื่อสารกับสังคม ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ที่มีพล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานได้พิจารณาประเด็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้สถานีตำรวจ 1,400 สถานีทั่วประเทศ หรือเรียกว่าการยกเครื่องโรงพัก 3 ระดับ คือ ระดับ S ให้มีกำลังพลจำนวน 50-70 นาย ระดับ M จำนวน 100-120 และระดับ L 180-220 นาย โดยมีเหตุผล 5 ประการคือ 1.เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าทุกโรงพักมีทรัพยากรเพียงพอ มีความพร้อมปฏิบัติงานในพื้นที่ และสามารถทำหน้าที่อย่างทันสมัย รองรับความเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งจะสามารถรับมือกับอาชญากรรมใหม่ ๆ ได้ อาทิ การใช้จีพีเอสติดตามตัว การใช้โดรนไล่ล่าคนร้าย
“2. เพื่อให้การปฏิบัติงานระดับสถานีตำรวจมีความเป็นมืออาชีพ มีมาตรฐาน 3.มีระดับควบคุมภายใน โดยผ่านกลไกจเรตำรวจที่ได้รับการออกแบบใหม่ 4.เพื่อให้ทำงานเป็นเครือข่ายและเปิดให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมการดำเนินงานของตำรวจ ตามแนวทางประชารัฐ โดยเฉพาะการจัดการทรัพยากร และ 5.สามารถวัดผลงาน ผลสัมฤทธิ์ได้อย่างเปิดเผย โปร่งใสตามหลักธรรมาภิบาล ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ต่อการกระจายงบประมาณ การกระจายกำลังพลในการให้บริการประชาชน โดยไม่เป็นภาระแก่ตำรวจให้ต้องไปขอรับการอุปถัมภ์จากพ่อค้า ประชาชน ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถลดระบบอุปถัมภ์ลงได้” นายมานิจ กล่าว
นายมานิจ กล่าวว่า การยกระดับครั้งนี้ จะมีคู่มือเป็นพันธะสัญญาให้กับตำรวจในการปฏิบัติงานให้ประชาชนอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม ด้วยการกำหนดเวลาในภารกิจอย่างชัดเจน อาทิ การเปรียบเทียบปรับตามใบสั่ง จะใช้เวลา 30 นาที การรับแจ้งของหาย เอกสารหาย ภายใน 30 นาที การจัดทำสำเนาบันทึกประจำวัน ภายใน 2 ชั่วโมง นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นด้วยกับการยกเลิกคณะกรรมการตำรวจ (ก.ตร.) โดยจะมีคณะกรรมการชุดใหม่มาทดแทน ทั้งในระดับโรงพักและระดับจังหวัด ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจ ประชาชน หน่วยงานภาคเอกชน และหน่วยงานท้องถิ่นเข้าร่วมด้วย ซึ่งเป็นไปตามโมเดลประชารัฐที่ให้ทุกภาคส่วนเข้ามีส่วนร่วม ส่วนประเด็นที่ยังเห็นต่างคือหน่วยงานที่จะมากำหนดนโยบาย พัฒนางาน ไม่ควรตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่ โดยมอบหมายให้สำนักหน่วยงานยุทธศาสตร์ การตรวจตราปฏิบัติงานเป็นหน้าที่จเรตำรวจ และกรรมการอิสระรับเรื่องร้องเรียนตำรวจ
“ทั้งหมดนี้คณะกรรมการฯ จะนำไปรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ จากนั้นจะนำข้อเสนอมาให้คณะกรรมการพิจารณาว่าจะแก้ไขหรือยืนยันตามเดิมก่อนเสนอรัฐบาล โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ โดยในวันดังกล่าวจะนำร่างกฎหมาย 3 ฉบับเข้าสอบถามความคิดเห็นด้วย ได้แก่ ร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ร่างพ.ร.บ.อำนาจในการดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานตามกฎหมาย และร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลวิธีพิจารณาความอาญา.-สำนักข่าวไทย
