กรุงเทพฯ 5 ก.พ. – ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจดัชนีด้านเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังคงกังวลค่าครองชีพแพงจากค่าแรงขึ้น
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยเดือนมกราคม 2561 ว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ 80 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 36 เดือน ซึ่งถือเป็นภาพที่ดูดีของการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจไทยโดยรวม เพราะข่าวสารเชิงบวก ทั้งการคาดการณ์ด้านเศรษฐกิจไทยที่ปรับตัวดีขึ้นและแนวโน้มดีตลอดไตรมาสแรก การส่งออกไทยปี 2560 ขยายตัวถึงร้อยละ 9.89 และไทยเกินดุลการค้ากว่า 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ การปรับตัวของตลาดหุ้นไทยที่ทะลุถึง 1,800 จุด และค่าเงินบาทที่แข็งค่าเล็กน้อย ทำให้เงินทุนไหลเข้าประเทศ รวมถึงราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวที่ปรับตัวดีขึ้น
ทั้งนี้ ยังมีเรื่องที่ต้องจับตามองเป็นสัญญาณเชิงลบและต้องติดตามต่อเนื่อง เพราะทำให้เศรษฐกิจยังขยายตัวไม่ทั่วถึง และน่าจะมีผลต่อความเชื่อมั่นเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ทั้งราคาสินค้าเกษตรบางตัวยังทรงตัวระดับต่ำ เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยสัตว์ ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ความกังวลด้านการเมือง การเลื่อนการเลือกตั้ง ค่าเงินบาทที่แข็งค่ารวดเร็วส่งผลต่อประชาชนบางกลุ่ม แต่หากค่าเงินอยู่ที่ 31.50-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ น่าจะไม่ส่งผลต่อผู้ประกอบการมากนัก รวมถึงราคาสินค้าส่วนใหญ่ยังทรงตัวระดับสูง ทำให้ดัชนีภาวะค่าครองชีพปัจจุบันปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน อีกทั้งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำยังเป็นความกังวลของผู้บริโภคต่อเรื่องค่าครองชีพด้วย
อย่างไรก็ตาม ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ยังประเมินว่าปี 2561 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในกรอบร้อยละ 4.2-4.5 อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกขยายตัวร้อยละ 5 และนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 37 ล้านคน ซึ่งจะเริ่มเห็นเศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่ปลายไตรมาส 2 หรือต้นไตรมาส 3 ดังนั้นทางศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ จะขอรอดูภาพรวมเศรษฐกิจเดือนมีนาคมนี้ก่อนจะมีการทบทวนตัวเลขต่าง ๆ อย่างเป็นทางการอีกครั้ง. – สำนักข่าวไทย