นนทบุรี 1 ก.พ. – พาณิชย์คาดแนวโน้มเงินเฟ้อปีนี้เพิ่มขึ้น หลังเศรษฐกิจดี รัฐเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ดันกำลังซื้อและรายได้เกษตรกรฟื้นตัว พร้อมปรับคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้สูงขึ้นร้อยละ 0.7-1.7 และทิศทางการคำนวณเงินเฟ้อให้หลากหลายมากขึ้น
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนมกราคมที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.68 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามราคาน้ำมันขายปลีกที่สูงขึ้น ขณะที่กลุ่มอาหารสดลดลงร้อยละ 0.30 เพราะผลผลิตอาหารสด เช่น เนื้อสุกร ไก่สด และไข่ไก่ มีปริมาณมาก จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ทำให้ราคาถูกลง ขณะเดียวกันสินค้ากลุ่มน้ำหวาน น้ำผลไม้ และกาแฟ ปรับเพิ่มสูงขึ้นตามภาษีค่าความหวานในเครื่องดื่ม
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีการเคลื่อนไหวและมีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่ผลผลิต และรายได้เกษตรกรน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้กำลังซื้อในประเทศปรับตัวดีขึ้น จึงได้มีการปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปีนี้ขึ้นมาอยู่ร้อยละ 0.7- 1.7 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 0.6- 1.6
นอกจากนี้ เตรียมที่ทบทวนรายการและราคาสินค้าที่นำไปใช้ในการคำนวณดัชนี จากเดิมทบทวนทุก ๆ 4 ปี มาเป็นทบทวนทุก ๆ ปี โดยจะมีการปรับปรุงรายการและน้ำหนักของสินค้าในตะกร้าในการคำนวณให้ทันสมัยและตรงกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปมากขึ้น และอาจจะมีการปรับเพิ่มน้ำหนักสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยี เช่น สมาร์ทโฟน ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคนิยมใช้มากขึ้นและอาจมีการปรับสินค้าบางรายการออก เช่น ปลาเค็ม ซึ่งไม่ได้สะท้อนถึงราคาและพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างการคำนวณ เพื่อที่จะนำเอาสินค้าออนไลน์เข้ามาคำนวณดัชนีด้วย เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสนใจ และนิยมซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ เพราะราคาถูกและสะดวก ซึ่งเมื่อนำมาคำนวณแล้วอาจจะสะท้อนออกมาทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง แต่ทั้งนี้เป็นการสะท้อนถึงราคาและการใช้จ่ายจริง ซึ่งคาดว่าการทบทวนดังกล่าวน่าจะเสร็จภายในกลางปีและจะนำมาใช้ในการเป็นฐานการคำนวณอัตราเงินเฟ้อได้ในช่วงสิ้นปี หรือต้นปี 2562. – สำนักข่าวไทย