กรุงเทพฯ 31 ม.ค.-ศาลปกครองสูงสุดสั่ง สตช.ชดใช้ค่าเสียหาย 254 ผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ จากเหตุสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา 7 ก.พ.51 ชี้ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ด้านทนาย ชี้ สตช.ต้องจ่ายภายใน 60 วัน “ตี๋-ชิงชัย” ดีใจศาลให้ความยุติธรรม พร้อมออกมาต่อสู้อีกหากพบการบริหารบ้านเมืองไม่ถูกต้อง
ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายชิงชัย อุดมเจริญกิจ กับพวกรวม 254 คน และนายกร เอี่ยมอิทธิพล กับพวกรวม 11 คนกรณีได้รับบาดเจ็บเสียหายจากเหตุ สตช.เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บริเวณรอบรัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 โดยให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแต่ละรายจำนวนตั้งแต่ 7,120 – 4,152,771.84 บาท ซึ่งรวมเป็นเงิน 26,205,117.44 ล้านบาท แต่ยังไม่รวมดอกเบี้ย
โดยศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงปรากฏว่าการกระทำของผู้ชุมนุมเป็นการกระทำเพื่อขัดขวางไม่ให้นายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีเข้าแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไม่ใช่การก่ออาชญากรรมโดยแท้ จึงไม่อาจปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมทั้งหมดด้วยวิธีการเดียวกับการจับกุมผู้กระทำความผิดอาญาได้ แต่หากการชุมนุมเป็นไปโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ทำให้ผู้อื่นเกิดความเกรงกลัว สตช.และสำนักนายกรัฐมนตรี ย่อมมีอำนาจหน้าที่ระงับยับยั้งได้ โดยต้องปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมตามกฎหมายระเบียบและขั้นตอนวิธีการที่เหมาะสม ไม่ว่าการชุมนุมจะเป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
อีกทั้งหลังเกิดเหตุ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งรับฟังได้เป็นที่ยุติตามที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายไม่โต้เถียงกันว่า ก่อนการใช้แก๊สน้ำตา เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำตามขั้นตอนที่กำหนดไว้แต่อย่างใด อีกทั้งพยานทั้งหมดได้ให้ถ้อยคำในช่วงเดือนตุลาคม 2551 ซึ่งเป็นเวลาใกล้ชิดกับวันเกิดเหตุที่ยังจดจำเหตุการณ์ได้ จึงฟังได้ว่าเป็นการให้ถ้อยคำตามความเป็นจริง ไม่มีการเสริมแต่งข้อเท็จจริงใด ๆ และยังมีการให้ถ้อยคำของกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีความชำนาญเฉพาะด้านมายืนยันในความไม่เหมาะสมในวิธีการสลายการชุมนุมและการใช้แก๊สน้ำตาอีกด้วย พยานหลักฐานดังกล่าวจึงมีน้ำหนักมั่นคงให้รับฟังได้ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของ สตช.มีข้อบกพร่องในขั้นตอนการเตรียมการหารถดับเพลิงมาใช้ในการสลายการชุมนุมและมีข้อบกพร่องในวิธีการยิงแก๊สน้ำตา โดยยิงในแนวตรงขนานกับพื้น ซึ่งไม่เป็นไปตามวิธีการที่ถูกต้องที่ต้องยิงเป็นวิถีโค้ง ประกอบกับแก๊สน้ำตาที่นำมาใช้เป็นแก๊สน้ำตาที่ซื้อมาเป็นเวลานาน จึงมีประสิทธิภาพต่ำ จึงต้องใช้แก๊สน้ำตาจำนวนมากเกินกว่าที่จะใช้โดยปกติทั่วไป ทำให้เกิดความปั่นป่วนชุลมุน เกิดความเสียหายต่อผู้ชุมนุมมากเกินกว่าผลตามปกติที่เกิดจากการใช้แก๊สน้ำตาที่มีประสิทธิภาพดีและยิงโดยวิธีการที่ถูกต้อง และยังส่งผลเสียหายไปถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่มาช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งไม่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติจะรู้ถึงข้อบกพร่องของขั้นตอนในการเตรียมการหารถดับเพลิงมาใช้กับผู้ชุมนุมก่อนการใช้แก๊สน้ำตาและข้อบกพร่องในประสิทธิภาพของแก๊สน้ำตาที่ทำให้ต้องยิงแก๊สน้ำตาเป็นจำนวนมากหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อมีการบกพร่องดังกล่าว ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของนายชิงชัยกับพวกแต่ละราย จึงเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย สิทธิและเสรีภาพ จึงเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สตช.จึงต้องรับผิดต่อผู้ได้รับความเสียหาย
ส่วนสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า แม้นายกรัฐมนตรี จะเป็นหัวหน้ารัฐบาล มีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่ง และการกระทำละเมิดดังกล่าวจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากมติคณะรัฐมนตรีที่ให้มีการจัดประชุมแถลงนโยบายที่รัฐสภา แต่มติดังกล่าวก็เป็นไปตามปกติเพื่อให้การแถลงนโยบายของรัฐบาลดำเนินการไปได้เท่านั้น หน่วยงานที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง คือ สตช. สมควรติดตามสถานการณ์และเตรียมการเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหา หากจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงกำหนดนัด หรือสถานที่ประชุม ทางรัฐสภาคงต้องปรึกษาหารือกันแล้วแจ้งคณะรัฐมนตรีทราบ และมีมติมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีติดตามตรวจสอบสถานการณ์และกำกับดูแลการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยประสานสั่งการ สตช. หน่วยงาน และบุคคลที่เกี่ยวข้อง นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจึงไม่ได้กำหนดขั้นตอนและวิธีการในการสลายการชุมนุมแต่อย่างใด การกำหนดขั้นตอนวิธีการในการสลายการชุมนุมเพื่อเปิดทางให้มีการประชุมแถลงนโยบาย ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของ สตช. อีกทั้งเมื่อเริ่มประชุมแล้วเกิดความเสียหาย ย่อมเป็นอำนาจประธานรัฐสภาที่จะสั่งปิดการประชุมเพื่อยุติเหตุการณ์ ดังนั้นนายกรัฐมนตรีและสำนักนายกรัฐมนตรีจึงไม่ได้กระทำละเมิด
อย่างไรก็ตาม กรณีสืบเนื่องจากการชุมนุมบางส่วนมีลักษณะทำให้ผู้อื่นเกรงกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นหน้าที่ของ สตช.ที่ต้องระงับยับยั้งการกระทำดังกล่าว เมื่อพิจารณาพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำละเมิดแล้วเห็นว่าค่าเสียหายที่ศาลปกครองชั้นต้นกำหนดประมาณ 8,000-5,000,000 บาท สูงเกิน สมควรลดค่าเสียหายลงร้อยละ 20 จึงมีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ สตช.ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายชิงชัยกับพวกแต่ละรายจำนวนตั้งแต่ 7,120 – 4,152,771.84 บาท พร้อมดอกเบี้ย และยกฟ้องสำนักนายกรัฐมนตรี
ด้านนายตี๋ แซ่เตียว หนึ่งในผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า วันนี้พอใจมากที่ศาลให้ความยุติธรรม เพราะที่ผ่านมาใช้ชีวิตลำบากมาก ไม่สามารถประกอบอาชีพอะไรได้ เนื่องจากยังมีอาการเจ็บป่วยทางร่างกาย ซึ่งเป็นผลกระทบจากการสลายการชุมนุมฯ ทำให้ภรรยาต้องประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัวเพียงคนเดียว อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้ทำให้ตนรู้สึกกลัวและไม่กล้าที่จะไปชุมนุมทางการเมืองอีก หากอนาคตการบริหารบ้านเมืองเป็นไปโดยไม่ถูกต้อง ก็จะออกมาต่อสู้อีก
ขณะที่นายชิงชัย กล่าวยอมรับคำพิพากษา แม้ว่าค่าสินไหมที่ได้รับเทียบไม่ได้กับสิ่งที่สูญเสียไป ทุกวันสภาพร่างกายยังไม่ปกติ ต้องไปพบแพทย์ตรวจติดตามเป็นระยะ และไม่ได้รู้สึกกลัวกับการชุมนุม หากเห็นว่ามีการบริหารบ้านเมืองที่ไม่ถูกต้อง ก็จะไปร่วมเคลื่อนไหวอีก
ด้านนายบุญธานี กิตติสินโยธิน ทนายความ กล่าวว่า หลังจากนี้ทาง สตช.ต้องชดใช้ให้กับผู้เสียหายตามคำพิพากษาภายใน 60 วัน ซึ่งที่ศาลยกฟ้องในส่วนของสำนักนายกรัฐมนตรีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทางผู้เสียหายคงต้องยอมรับ เพราะเป็นคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดแล้ว.-สำนักข่าวไทย