วธ.30 ม.ค.-วธ.รวบรวมข้อมูลประวัติผลงาน “พระยาโบราณราชธานินทร์–หลวงปู่มั่น–ไพบูลย์ บุตรขัน-พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์” เสนอให้ยูเนสโก ประกาศยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมผู้บริหาร วธ.และหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงฯ กรมศิลปากร กรมการศาสนา และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้หารือเตรียมการเสนอรายชื่อบุคคลสำคัญหรือเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทยด้านวัฒนธรรม เสนอต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)
เบื้องต้นที่ประชุมเห็นชอบให้รวบรวมและจัดทำข้อมูลประวัติและผลงานบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยด้านวัฒนธรรม จำนวน 4 คน เสนอ เป็นบุคคลสำคัญของโลก ตามวาระการครบรอบและตามหลักเกณฑ์ของยูเนสโก ประกอบด้วย
1.พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ผู้บุกเบิกการค้นคว้าทางโบราณคดีของเมืองอยุธยาโดยสำรวจโบราณสถานและวัดต่างๆ และจัดทำแผนที่เกาะเมืองอยุธยา รวมถึงเก็บรวบรวมศิลปวัตถุและโบราณวัตถุที่พบภายในเมืองอยุธยา ทำให้ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาเป็นที่รู้จักแพร่หลายในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน โดยต่อมานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจะครบรอบ 150 ปี ชาตกาล ในปี 2564
2. พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นอาจารย์ทางวิปัสสนาที่ได้รับการยกย่องอย่างสูงจากบรรพชิตและคฤหัสถ์ในภาคต่างๆทั่วประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน จะครบรอบ 150 ปีชาตกาล ในปี 2563
3.นายไพบูลย์ บุตรขัน นักแต่งเพลงและนักเขียนบทละครที่มีผลงานที่มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก อาทิ ค่าน้ำนม มนต์รักลูกทุ่ง ,มนต์รักแม่กลอง, บุพเพสันนิวาส, โลกนี้คือละคร, ฝนเดือนหก น้ำตาเทียน ยมบาลเจ้าขา เป็นต้น จะครบรอบ 50 ปีเสียชีวิต ในปี 2565
และ 4.พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.) ทรงเป็นนัก หนังสือพิมพ์ นักประพันธ์ และกวีเอกของไทย ทรงใช้พระนามแฝงว่า “น.ม.ส.” ทรงนิพนธ์ร้อยกรองและร้อยแก้วไว้จำนวนมาก อาทิ จดหมายจางวางหร่ำ พระนลคำฉันท์ นิทานเวตาล กนกนคร สามกรุง เป็นต้น จะครบรอบ 150 ปี วันประสูติในวันที่ 10 มกราคม ปี 2569
นายวีระ กล่าวว่า มอบหมายให้กรมศิลปากร รวบรวมประวัติและผลงานของพระยาโบราณราชธานินทร์ และพระราชวรวงค์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ส่วนกรมการศาสนารวบรวมประวัติและผลงานพระอาจารย์มั่น ภูริ ทัตโต และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม รวบรวมประวัติและผลงาน นายไพบูลย์ บุตรขัน เพื่อจัดทำข้อมูลเสนอต่อคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ซึ่งกระทรวง ศึกษาธิการ (ศธ.) ดูแลในการพิจารณาเห็นชอบ หากผ่านความเห็นชอบ ก็จะเสนอไปยังยูเนสโกในการประชุมสมัยสามัญของยูเนสโกครั้งที่ 40 ช่วงเดือน ต.ค. หรือพ.ย.2562 จำนวน 2 ท่านก่อน คือพระยาโบราณราชธานินทร์และพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตเพื่อให้ยูเนสโกประกาศยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก ส่วนอีก 2 ท่านคือนายไพบูลย์ บุตรขัน จะเสนอให้ยูเนสโกพิจารณาในการประชุมในปี 2564 และพระราชวรวงค์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ จะเสนอให้พิจารณาในปี 2568
ทั้งนี้ ยูเนสโกกำหนดหลักเกณฑ์การเสนอบุคคลหรือเหตุการณ์ทางประวัติ ศาสตร์ อาทิ ต้องเสนอบุคคลหรือเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจขององค์การยูเนสโกในสาขาการศึกษา วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม สังคมและมนุษยศาสตร์ และสื่อสารมวลชน และเป็นการฉลองการครบรอบ 50 ปี 100 ปี หรือครบรอบทวีคูณ หรือทุกๆ 50 ปี ณ ปีที่จะมีการเฉลิมฉลอง และเสนอได้ไม่เกิน 2 รายการในการประชุมสมัยสามัญของยูเนสโกที่จัดขึ้นทุก 2 ปี
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยได้มีบุคคลและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทยที่ได้รับการรับรองฉลองวาระครบรอบจากยูเนสโกแล้ว 27 คน อาทิ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ครบรอบ 100 พรรษาวันประสูติ ,พุทธทาสภิกขุครบรอบชาตกาล 100 ปี ,นายเอื้อ สุนทรสนาน ครบรอบ 100 ปีชาตกาล และเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ไทย 2 เหตุการณ์ คือ การสถาปนาเมืองเชียงใหม่ ครบรอบ 700 ปีในปี 2539 และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปี 2539 เป็นต้น .-สำนักข่าวไทย