ศธ.29 ม.ค.-สพฐ.มอบ ผอ.เขตพื้นที่สำรวจปัญหาเเต่ละโรงเรียน หลังพบการล่วงละเมิดเเละใช้ความรุนเเรงระหว่าง เด็ก-เด็ก,ครู-เด็ก ยอมรับที่ผ่านมามุ่งเเก้ปัญหารายกรณี ไม่ส่งผลระยะยาว ขณะที่ รมว.ศึกษาฯ ย้ำเอาจริงเรื่อง ผอ.โคราชมีพฤติกรรมชู้สาวเด็ก ม.2
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขา กพฐ.)เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดทำมาตรการเฝ้าระวังป้องกันเหตุใช้ความรุนแรงและแนวทางการปฏิบัติกรณีเกิดเหตุการณ์ กระทำความรุนแรงต่อนักเรียนในสถานศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ครั้งที่ 1/2561 หลังเกิดเหตุบุคลากรทางการศึกษา ครูเเละนักเรียนถูกกล่าวหามีความประพฤติไม่เหมาะสม กระทำความรุนเเรงกับนักเรียนทั้งร่างกายเเละจิตใจ อาทิ กรณีผู้อำนวยโรงเรียนหนึ่งใน ต.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา มีพฤติกรรมเชิงชู้สาวกับเด็กม.2 หรือกรณีที่รุ่นพี่ม.2 ในโรงเรียนเเห่งหนึ่งในจ.ชุมพรลวงนักเรียนชั้นม.1 ไปล่วงละเมิดทางเพศ จึงจำเป็นต้องดำเนินการจัดทำมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันเหตุใช้ความรุนเเรงเเละเเนวทางปฏิบัติเพื่อลดปัญหาอย่างยั่งยืน
นายบุญรักษ์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้ทบทวนถึงมาตรการ กฎเกณฑ์หรือกฎระเบียบ ตลอดจนข้อสั่งการต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ออกกฎมาตั้งเเต่ปี 2550 ซึ่งผ่านมา 10 ปี มาตรการบางอย่างอาจต้องเปลี่ยนไป เพราะยุคสมัยที่เปลี่ยน การหาข้อมูลข่าวสารรวดเร็วขึ้น โดยวางหลักไว้ว่า หลังเกิดเหตุ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาต้องตรวจสอบ ลงพื้นที่ทันทีเเละรายงานผลมาที่ตนทันที ซึ่งอาจจะเป็นผลไม่เป็นทางการก็ได้ โดยไม่ต้องรอตั้งคณะกรรมการการสืบสวนข้อเท็จจริงก่อนเเล้วถึงจะรายงานเพราะอาจล่าช้า ,ข้อสั่งการเรื่องการสอบสวนข้อเท็จจริง เดิมกำหนดต้องดำเนินการสืบสวนให้เเล้วเสร็จภายใน 10 วัน เเต่ปัจจุบันสามารถทำได้รวดเร็วกว่านั้น เเต่ก็ให้ยึดตามกรอบเดิม เพราะถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม
หลังจากนั้นสพฐ.จะทำหน้าที่ป้องกัน ป้องปรามเเละลงโทษผู้ที่กระทำความผิดต่อบุคลากรทางการศึกษาให้เร็วที่สุด , วิธีการในการดูเเล ช่วยเหลือหรือฟื้นฟูสภาพจิตใจของเด็ก มอบภารกิจให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ไปสำรวจสภาพปัญหาของเด็กในเเต่ละพื้นที่ รวมถึงวิธีการเข้าถึงเด็กเเละวิธีการเเก้ปัญหาที่เหมาะสมกับเด็กในเเต่ละโรงเรียนหรือเเต่ละพื้นที่ เพราะโลกที่เปลี่ยนไป การดูเเลเด็กก็ต้องทันสมัยตามไปด้วย โดยทำงานร่วมกับส่วนท้องถิ่น หน่วยงานในสังกัดของกระทรวงพัฒนาสังคมเเละความมั่นคงเเละกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้ช่วยกันดูเเลเด็กอย่างครบวงจร เเล้วนำข้อมูลรายงานมายัง สพฐ.ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางที่จะกำหนดกรอบอย่างกว้างเเต่จะไปออกเเบบวิธีการดูเเลเด็กในพื้นที่ไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาจะมุ่งเเก้ปัญหาเด็กได้เเค่เป็นรายกรณีไม่ได้อีกต่อไปเเล้ว เเต่ต้องเเก้ปัญหาอย่างเป็นระบบด้วย
นายบุญรักษ์ กล่าวต่อว่า หากเมื่อเปรียบเทียบ 5 ปีย้อนหลัง พบตัวเลขภัยที่เกิดกับเด็กทั้งภัยที่เกิดจากเพศ ภัยความรุนเเรงเเละภัยที่เกิดจากการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบการศึกษาจะน้อยลง เเต่วัดที่ปริมาณไม่ได้ ต้องประเมินถึงคุณภาพเเละจิตใจของเด็กที่อาจรุนเเรงมากขึ้น มาตรการต่อจากนี้คือเร่งหานักจิตวิทยามาประจำให้ครบทุกเขตพื้นที่การศึกษา ปัจจุบันมีเพียง 26 เขตจาก 225 เขต จึงต้องเร่งพัฒนาศึกษานิเทศก์ให้มาทำหน้าที่ตรงนี้หรือไปเเนะเเนวครูในเเต่ละโรงเรียนให้เข้าใจเด็กมากขึ้น ทำอย่างไรให้เด็กเห็นคุณค่าในตนเอง มาตรการต่อมาคือการพัฒนาครู ให้เข้าใจเเละรับมือดูเเลเด็กได้ทันท่วงที โดยจากนี้ตนจะเสนอมาตรการในการดูเเลเด็กเเละบุคลากรทางการศึกษาต่อนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาต่อไป
ด้าน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีผอ.โรงเรียนที่มีพฤติกรรมเชิงชู้สาวกับนักเรียนชั้น ม.2ว่า เรื่องนี้เอาจริง ไม่ต้องห่วง ซึ่งทาง พล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ ตรวจสอบข้อมูลอยู่เป็นระยะ แต่ตนยังไม่ได้รับรายงานรายละเอียด แต่การที่ผู้อำนวยการ รร.มีเพศสัมพันธ์กับเด็ก ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ถือว่ามีความผิดอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีเรื่องความเหมาะสมและยังมีเรื่องจรรยาบรรณ ซึ่งระดับนี้ต้องรู้ตัว
ถ้าไม่รู้ตัวก็มีคนช่วยให้รู้ตัว ก็ต้องลงไปจัดการ เเละทราบว่าสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ลงไปตรวจสอบคู่ขนานด้วยแล้ว ซึ่งถือเป็นนิมิตหมาย
ที่ดี ที่ผ่านมาเวลามีปัญหา คนส่วนใหญ่จะนึกถึงแต่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเดียว แต่หลายเรื่อง เกี่ยวข้องกับจริยธรรม เป็นเรื่องมาตรฐานวิชาชีพครู ซึ่งต้องตั้งสอบวินัยอย่างร้ายแรง.-สำนักข่าวไทย