กรุงเทพฯ 28 ม.ค. – กรมชลฯ ระบุอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ช่วยเสริมศักยภาพและป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำแม่น้ำบางปะกง
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในช่วงฤดูแล้งของทุกปี กรมชลประทานได้วางมาตรการควบคุมความเค็มในแม่น้ำบางปะกง โดยวางแผนใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำที่ตั้งอยู่ทางตอนบนของลุ่มน้ำบางปะกง อาทิ อ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ่างเก็บน้ำคลองระบม อ่างเก็บน้ำพระปรง อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล และอ่างเก็บน้ำคลองพระสทึง เป็นต้น เพื่อควบคุมความเค็มไม่ให้รุกล้ำเข้ามาส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำ แต่บางปีปริมาณน้ำต้นทุนจากอ่างฯ เหล่านี้มีไม่เพียงพอที่จะระบายลงมาเจือจางความเค็มได้อย่างเต็มศักยภาพ ทำให้บางปีความเค็มรุกล้ำเข้าไปถึงบริเวณ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ระยะทางกว่า 190 กิโลเมตร ส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลอภัยภูเบศรที่ไม่สามารถนำน้ำประปามาฟอกเลือดและล้างเครื่องมือทางการแพทย์ได้ต้องขอสนับสนุนน้ำสะอาดจากภาครัฐและเอกชน
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี สามารถเก็บกักน้ำได้ตั้งแต่เมื่อปี 2559 เป็นต้นมา ทำให้ลุ่มน้ำบางปะกงมีแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น ช่วยเสริมศักยภาพการควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำบางปะกงได้มากขึ้น โดยจะเห็นได้ว่าช่วงฤดูแล้งปี 2560 และปี 2561 ค่าความเค็มในแม่น้ำบางปะกงบริเวณ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่สูงขึ้นเช่นหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาฯ ลงมาช่วยควบคุมค่าความเค็ม ทำให้บริเวณ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ไม่มีปัญหาการใช้น้ำเพื่อการเกษตรและผลิตประปาเหมือนดังอดีตที่ผ่านมา
สำหรับสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำบางปะกง ปัจจุบัน (27 ม.ค. 61) ค่าความเค็มบริเวณ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี อยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนที่เขื่อนทดน้ำบางปะกง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา วัดได้เพียง 0.26 กรัมต่อลิตร และบริเวณ อ.เมืองฉะเชิงเทรา วัดได้ 0.30 กรัมต่อลิตร การประปาส่วนภูมิภาคสาขาฉะเชิงเทรา กลุ่มเกษตรกร และทุกภาคส่วน ยังสามารถใช้น้ำจากแม่น้ำบางปะกงทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ.-สำนักข่าวไทย