มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต 27 ม.ค.-“ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” มองเลื่อนเลือกตั้งไม่นาน เชื่อพรรคการเมืองรอได้ แต่หวั่นกระทบความน่าเชื่อถือของนายกฯ และ คสช.
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ออกไป 90 วันหลังประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ว่า จะส่งผลต่อโรดแมปการเลือกตั้งให้ขยายระยะเวลาออกไปแน่นอน จากปลายปี 2561 เป็นต้นปี 2562 แต่มองว่า 3 เดือนที่เลื่อนออกไปไม่น่าจะกระทบต่อพรรคการเมืองมากนัก และเชื่อว่าระยะเวลาการเลือกตั้งที่เลื่อนออกไป พรรคการเมืองจะรอได้ เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน 2561 ก็ครบ 4 ปีครึ่ง ซึ่งจะเป็น 4 ปี 6 เดือน หรือ 4 ปี 9 เดือน ก็คงไม่ต่างกันมากนัก แต่สิ่งที่มันจะต่างกันมาก คือ ผลที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลและ คสช. โดยเฉพาะกับนายกรัฐมนตรี
“3 เดือนมันไม่มาก แต่มันอาจมากในแง่ของความน่าเชื่อถือ ผมว่าคงต้องรอฟังเสียงของประชาชนว่าจะว่าอย่างไร เพราะความน่าเชื่อถือมันกระทบต่อรัฐบาลในการขยับคราวนี้ เพราะต่อให้รัฐบาลจะพยายามอธิบายว่า สนช.คิดเอง แต่เข้าใจว่าคนที่จะต้องชอบรัฐบาล และ คสช.อย่างยิ่งมาก ๆ ถึงจะเข้าใจเช่นนั้นได้ เพราะ สนช.มาจากการตั้งของ คสช. และเข้าใจว่ามี สนช.จำนวนหนึ่งที่อยากอยู่รับใช้ประเทศต่อมาเป็น ส.ว.ต่อแบบนี้ ดังนั้นกลไกของ คสช.ที่ทำให้ สนช.ต้องทำตามที่บอกได้ มันมีกลไกของมันอยู่ ในข้อนี้นายกฯ ไม่ได้ใช้เลย สนช.คิดเอง มันก็มีทั้งคนที่เชื่อและไม่เชื่อ แต่ค่อนข้างจะลำบากหากบอกว่า คสช.ไม่เกี่ยว สนช.คิดเอง หากลองไปสำรวจความเห็นของประชาชน เชื่อว่าที่คิดว่า คสช.ไม่เกี่ยวน่าจะน้อยกว่า” นายปริญญา กล่าว
นายปริญญา กล่าวอีกว่า ผลกระทบต่อการขยายเวลาการเลือกตั้ง ยังส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของผู้นำในต่างประเทศ หากนายกรัฐมนตรีไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยหลังจากที่มีการเลือกตั้งไปแล้วและไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากการเลื่อนเวลาในครั้งนี้ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาตามมาในทางลบ
“ส่วนที่ขยายมาแล้วอย่างมากก็เป็นเรื่องความน่าเชื่อถือที่น้อยลง แต่จะมีปัญหาแน่ หากหลังจากนี้ปรากฎว่ามีพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาที่อาจจะประกาศสนับสนุนนายกรัฐมนตรีให้เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนนอกและนายกรัฐมนตรีไม่ได้ปฎิเสธ ก็จะตอบโจทย์ชัดเจนว่าการขยายเวลาออกไป 3 เดือน เพื่ออะไร เป็นการแข่งขันกับพรรคการเมืองเก่าหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่าเมื่อปลายปีก็มีประกาศของ คสช. ฉบับที่ 53/2560 ที่ไปเซ็ทซีโร่สมาชิกพรรคการเมืองเก่าแล้ว หากนายกรัฐมนตรีไม่เกี่ยวข้องอะไรเลย หลังการเลือกตั้งปัญหาก็จะน้อยกว่า แต่หากนายกรัฐมนตรีเกี่ยวขึ้นมาโดยมีพรรคมาเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ มันจะเป็นปัญหามากกว่าเดิมอย่างแน่นอน เพราะจะกลายเป็นเรื่องที่ทำไปตัวเองมีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ไม่ใช่น้อย อย่าลืมว่า คสช.ขาลงมาระยะหนึ่งแล้ว และก็จะลงต่อไป” นายปริญญา กล่าว
นายปริญญา กล่าวอีกว่า การลงมติในครั้งนี้ สนช.ได้ประโยชน์ เพราะยิ่งเลือกตั้งช้าไปเท่าใด สนช.ก็ได้อยู่ทำหน้าที่นานเท่านั้น ดังนั้นหาก สนช.จะบอกว่าที่ขยายเวลาออกไปทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยแท้นั้น เหตุผลต้องมากกว่านี้ในการทำให้คนเข้าใจเช่นนั้นจริง ๆ ว่าประเทศไทยไม่พร้อมตรงไหน เพราะวันนี้ประเทศมีรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้แล้ว ซึ่งรัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุด.-สำนักข่าวไทย