กรุงเทพฯ 8 ต.ค.- โฆษกรัฐบาล เผย ผู้นำเอเชียเยือนไทย เตรียมร่วมประชุมเอซีดี ชี้สะท้อนภาพความเชื่อมั่นและยอมรับของต่างชาติ ย้ำไทยพร้อมแสดงบทบาทนำที่สร้างสรรค์หลอมรวมเอเชีย แนะคนไทยเป็นเจ้าบ้านที่ดี
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 9 – 10 ต.ค.59 รัฐบาลไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 2 (ACD Summit) ที่ กรุงเทพมหานคร ในหัวข้อ “เอเชียหนึ่งเดียว หลากหลายในพลัง” โดยมีประมุขแห่งรัฐ ผู้นำ และผู้แทนระดับสูงของประเทศสมาชิกเอซีดี 34 ประเทศ รวมทั้งไทย ตอบรับการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้
“ผู้นำเอเชียมีความเชื่อมั่นและยอมรับรัฐบาลไทย และพร้อมให้ความร่วมมือเพื่อผลักดันให้เอเชียช่วยสร้างความสมดุลต่อเศรษฐกิจโลก และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกัน โดยประมุขและผู้นำที่จะเดินทางมายังไทย เช่น เจ้าผู้ครองรัฐคูเวต ปธน.อิหร่าน ปธน.ศรีลังกา รอง ปธน.จีน นรม.บาห์เรน นรม. เกาหลีใต้ นรม. มาเลเซีย นรม.ปากีสถาน เป็นต้น” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญต่อการประชุมครั้งนี้อย่างมาก เพราะไทยจะมีโอกาสได้แสดงบทบาทนำที่สร้างสรรค์ในเวทีระหว่างประเทศ ทั้งในฐานะผู้ก่อตั้งและสมาชิกเอซีดี และในฐานะประธานกลุ่ม 77 พร้อมทั้งย้ำว่ารัฐบาลส่งเสริมให้ทุกประเทศหันหน้าสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน และแบ่งปันให้เกิดการพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
“นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานเปิดการประชุมภาคธุรกิจ ACD Connect Business Forum ในวันที่ 9 ต.ค.ซึ่งเป็นกิจกรรมคู่ขนานที่ไทยได้ริเริ่มให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมกับเอซีดีมากขึ้น และมีกำหนดพบหารือทวิภาคีกับผู้นำเอเชีย เช่น ปธน.ศรีลังกา ปธน.อิหร่าน นรม.กัมพูชา นรม.ภูฏาน รอง ปธน.จีน รวมทั้งเป็นประธานการประชุมระดับผู้นำเอซีดี ในวันที่ 10 ต.ค.ที่กระทรวงการต่างประเทศ ได้ฝากกำชับให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมทั้งด้านการต้อนรับ การจัดประชุม การรักษาความปลอดภัย และการจราจร พร้อมทั้งเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมเป็นเจ้าบ้านที่ดี เพื่อให้ผู้มาเยือนเกิดความประทับใจ” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า รัฐบาลจะผลักดันความร่วมมือที่สำคัญ 6 ด้าน คือ ความเชื่อมโยงระหว่างประเทศ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากร ความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และน้ำ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว และการส่งเสริมการพัฒนาที่ทั่วถึง โดยนำเสนอแนวปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามเป้าหมายของสหประชาชาติ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผลสำเร็จจากการประชุมครั้งนี้ จะทำให้ไทยได้รับประโยชน์ในแง่ความเชื่อมั่นที่ประชาคมเอเชียและโลกมีต่อไทย และต่อยอดการพัฒนาร่วมกันในด้านต่าง ๆ เช่น การค้าการลงทุน การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งในภูมิภาค การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการศึกษา การเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกัน และการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลให้คนไทยในฐานะสมาชิกของเอเชียมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น.- สำนักข่าวไทย