ทำเนียบรัฐบาล 25 ม.ค.-รองนายกฯ เผยโรดแมปเลือกตั้งจะชัดเจนหลังกฎหมายเลือกตั้งบังคับใช้ ระบุแม้จะต้องเลื่อนก็ไม่เกินกุมภาพันธ์ 62
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย จัดกิจกรรม “สื่ออยากรู้รัฐบาลอยากเล่า” ในหัวข้อกฏหมายหลายรสกับอนาคตประเทศไทย โดยเชิญสื่อมวลชนทำเนียบรัฐบาลและตัวแทนสื่อจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงคอลัมนิสต์เข้าร่วมรับฟังและซักถาม ที่อาคารภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยระหว่างการเสวนามีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง11 และ ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊คไทยคู่ฟ้าอีกช่องทางหนึ่งด้วย
นายวิษณุ กล่าวถึงเรื่องรัฐบาลอยากเล่าว่า ตลอดระยะเวลาที่รัฐบาลบริหารงาน ได้ออกพระราชบัญญัติ 280 ฉบับ ซึ่งกฏหมายทั้งหมดเป็นกฏหมายที่ส่วนราชการรอคอยเป็นเวลานาน ติดขัด ขับเคลื่อนไม่ได้ รวมถึงกฏหมายที่ประชาชนรอคอย อาทิ เรื่องของภาษีอุ้มบุญและอีกหลายเรื่องที่ติดต่อราชการไม่สะดวก เสียรายทาง เสียใต้โต๊ะ ตลอดจนต่างประเทศที่เราไปเซนต์สัญญา รัฐบาลจึงจำเป็นต้องออกกฏหมายมาบังคับใช้ เพื่อตอบสนองการทำงานของรัฐบาล เพื่อประชาชนและพันธะระหว่างประเทศ และหากเทียบกับก่อนที่ คสช.เช้ามาถอยไป 7 ปีก่อนหน้า สภาที่มาจากการเลือกตั้งออกกฏมายเพียง 120 ฉบับใน 7 ปี และไม่สามาถสนองความต้องการของกระทรวง ทบวง กรมได้ทัน
“สำหรับกฏหมายที่โดดเด่นที่รัฐบาลออกไปแล้วมีผลกับพันธะระหว่างประเทศ ที่สำคัญ อาทิ เกี่ยวกับเรื่องงาช้าง กฏหมาย การบินพลเรือน ไอเคโอ เรื่องประมง ไอยูยู ส่วน เรื่องปากท้องประชาชน ได้ออกกฏหมายหลักประกันทางธุรกิจ หลักจากประกาศใช้ ผู้แทนธนาคารโลกมาขอบคุณที่มีกฏหมายนี้ออกมา เพราะจะยกระดับธุรกิจการค้าโลกของไทยมากยิ่งขึ้น ส่วนการลงทุนเรื่องอื่น การส่งเสริมการลงทุน ซื้อขายสินค้าที่ไม่เป็นธรรม การเรียกรับผลประโยชน์จากการทุจริต รัฐบาลออกกฏหมายชิ้นโบว์แดงคือพระราชบัญญัติอำนวยความสะดวกที่กำหนดให้ทุกส่วนราชการต้องทำคู่มือให้ประชาชนทราบว่าขั้นตอนการมาติดต่อหน่วยงาน ระยะเวลาและเอกสารที่ต้องใช้ หากไม่เป็นไปตามที่ระบุประชาชนสามารถร้องเรียนเจ้าหน้าที่ได้” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวถึงกฏหมายเกี่ยวกับการปราบปราบการทุจริต ซึ่งมีหน่วยงานดูแลอยู่ทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) และศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) ที่บูรณาการงานร่วมกันเรื่องการตรวจสอบและป้องกันการทุจริต
“พระราชบัญญัติอำนวยความสะดวกช่วยลดเรื่องการทุจริตได้มาก และขณะนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) อยู่ระหว่างพิจารณาร่างพระราชบัญญัติผลประโยชน์ขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวม เพื่อให้เกิดความรอบคอบ รวมถึงกฏหมาย อีกฉบับที่ช่วยปราบทุจริตคือพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างการหาพัสดุภาครัฐ ซึ่งมีโทษ ความผิดครอบคลุมไปยังรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์กรอิสระที่ต้องอยู่ภายใต้พระราชบัญญัตินี้ จากเดิมที่ไม่ได้อยู่ แม้กฎหมายดังกล่าวจะไม่สามารถลดการทุจริตได้100 เปอร์เซนต์ แต่ช่วยได้ระดับหนึ่ง” นายวิษณุ กล่าว
เมื่อถามถึงกฏหมายการปราบปรามคอรัปชั่น กรณีที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีช่องว่างว่าผู้มีอำนาจในบ้านเมืองมักได้รับการยกเว้น นายวิษณุ กล่าวว่า กฏหมายไม่ได้ยกเว้นให้ผู้มีอำนาจ แต่หากเล็ดลอดไปได้ คือการใช้กฏหมายที่ไม่ได้ผล เปรียบการใช้ดาบแต่ไม่ชักดาบออกมา อย่างไรก็ตาม ในอนาคตมีโอกาสถูกดำเนินการได้
ส่วนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้เกี่ยวข้อง เพราะเป็นเรื่องของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ขอขยายความว่ากฏหมายเลือกตั้งส.ส.กำหนดหลักเกณฑ์ ตามรัฐธรรมนูญ แต่มีหลายประเด็นเกิดขึ้น โดยกรรมาธิการและสนช.เติม แก้ ตัดหลายมาตรา พูดเรื่องการทำไพรมารีโหวต การอนุญาตหรือไม่ให้แสดงมหรสพในการเลือกตั้งที่มีคนเสนอให้ทำได้ ข้าราชการไม่ไปเลือกตั้งจะตัดสิทธิ์หรือได้รับผลกระทบ
“ที่ต้องการให้ขยายเวลาหลังประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เพราะหากประกาศออกไป เกรงว่าผู้ใช้กฏหมายจะดำเนินการในส่วนของตัวเองไม่ทัน คนใช้กฎหมาย คือกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ตอนนี้กกต.อยู่ไหน ผิดไม่ผิด จะใช้กกต.เก่าหรือใหม่ นี่คือเหตุผลของกรรมาธิการฝ่ายข้างมาก ซึ่งต้องรอผลโหวต หากมีผลอย่างไร ก็ต้องว่ากันไป และหากสนช.พิจารณาเสร็จก็ต้องถามกรรมการร่างรัฐธรรมนูญของอ.มีชัยอีกครั้ง หากมีข้อสังเกตุให้ตั้งกรรมาธิการร่วมกรธ. สนช.และกรรมาธิการ และจะกลับมาที่สนช.อีกครั้ง
ส่วนการขยายเวลาเลือกตั้งออกไป เพื่อเอื้อประโยชน์พรรคการเมืองใหม่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นพรรคเก่าหรือพรรคใหม่มีระยะเวลาเท่ากัน เพราะคิดว่าความเดือดร้อนของพรรคการเมืองน่าจะมาจากคสช.ยังไม่ปลดล็อคคำสั่งห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมมากกว่า ล่าสุดคสช.ผ่อนคลายออกคำสั่ง53/2560 ข้อ 8 ให้พรรคการเมืองด้านธุรการบางอย่างไปก่อนได้
“เมื่อประกาศใช้ข้อ8 ของคำสั่งคสช. ให้ครม.แจ้ง คสช.เชิญพรรคการเมืองทุกพรรค กกต.มาพูดคุยครั้งสุดท้ายว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใด โดยจะได้ข้อสรุปและตกลงในวันนั้น ข้อ 8 คือวาระสำคัญของชาติที่จะกำหนดโรดแมปของประเทศที่ชัดเจนที่สุด หลังกฏหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งประกาศใช้ทั้งหมด ดังนั้น กระแสที่ระบุว่าการเลือกตั้งจะยืดออกไป 1-2 ปีนั้น เป็นไปไม่ได้ หากเป็นเช่นนั้นต้องแก้รัฐธรรมนูญ แต่มีความเป็นไปได้ที่จะยืดออกไปอีก 2 เดือน” นายวิษณุ กล่าว
เมื่อถามย้ำว่าการออกคำสั่งคสช. ม44 ข้อ 8 ทราบหรือไม่ว่าอาจต้องขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบล่วงหน้า แต่ทราบว่าคำสั่ง53 /2560 เป็นการคลายล็อคทีละขั้น แต่ไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นหลังจากคลายเพราะไม่ได้ปลดล็อคทั้งหมด เดิมทีจะใช้คสช สั่งกำหนดวันเลือกตั้ง แต่ความเห็นในที่ประชุม ต้องการให้พรรคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจ จึงระบุเงื่อนไขไว้ในข้อ 8
ส่วนที่ว่าในทางกฎหมายหากสนช.จะขยายเวลาออก ไป 90 วัน และหากเวทีการหารือในข้อ 8 กับพรรคการเมืองแล้วพบว่าไม่ทัน จะมีช่องทางขยายเลือกตั้งออกไปอีกหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า หากเป็นเช่นนั้นต้องแก้พ.ร.ป.การเลือกตั้ง แต่เชื่อว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น และมั่นใจว่าจะไม่ใช้มาตรา 44 แก้ปัญหา แต่จะให้การันตีว่าจะไม่เกิดเหตุอะไรที่เป็นเงื่อนไขขึ้นนั้น ไม่ใช่หน้าที่ที่จะการันตีได้
เมื่อขอให้กำหนดวันเลือกตั้งให้ชัดเจน นายวิษณุ กล่าวว่า กฏหมายเลือกตั้งเข้าสภาเมื่อใดจะใช้เวลาพิจารณาภายใน 2 เดือน หากแก้ไขเพิ่มเติมจะต้องตั้งกรรมมาธิการร่วม 3 ฝ่ายประกอบด้วยสนช. กรธ.และกกต.พิจารณากรอบการทำงาน1 เดือน โดยคาดว่าจะเสร็จเดือนกุมภาพันธ์นี้ จากนั้นนำขึ้นทูลเกล้าฯ เดือนมีนาคม โดยทรงมีเวลาพิจารณา 90 วัน ซึ่งหากนับตามกรอบ 90 วันคาดว่าจะสามารถประกาศใช้กฎหมายเลือกตั้งส.ส.ได้ ในเดือนมิถุนายน แต่จะยังไม่มีผล หากขยายเวลาบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษาไปอีก90 วัน อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้คสช.สามารถใช้คำสั่ง 53/2560 ข้อ 8 จัดการหารือระหว่างคสช. กรธ. กกต.และพรรคการเมืองกำหนดร่วมกันว่าเลือกตั้งเมื่อใด หาเสียงเมื่อใด ซึ่งหากขยายเวลาประกาศใช้กฎหมายอีก 90 วัน กฏหมายจะมีผลบังคับใช้ราวเดือนกันยายน ทั้งนี้ รัฐธรรทนูญกำหนดให้จัดเลือกตั้งภายใน 150 วัน จึงคาดว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นภายในเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2562
ส่วนระหว่างนี้จะปลดล็อคพรรคการเมืองก่อนหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คสช.จะประชุมและระเมินสถานกาณ์ ส่วนที่กังวลกันว่าจะมีการคว่ำโรดแมปก็เป็นอีกทางที่จะทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป แต่ไม่ควรจะเกิดและมีวิธีเลี่ยงได้
นายวิษณุ กล่าวถึงกรณีองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทยถอนตัวออกจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ว่า เป็นเรื่องของเอกชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย เพราะไทยไม่เคยเป็นสมาชิก และไม่เคยเกี่ยวข้อง ไม่เคยให้การสนับสนุน.-สำนักข่าวไทย
