รัฐสภา 25 ม.ค.- สนช.ถกร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. หนุนขยายเวลาบังคับใช้ เพื่อให้ทุกฝ่ายเตรียมการเลือกตั้ง
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (25 ม.ค.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.เป็นประธานประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)พ.ศ. …. ที่คณะกรรมาธิการฯพิจารณาเสร็จแล้ว และแก้ไขหลายประเด็น รวมทั้งประเด็นใหญ่ในมาตรา 2 เรื่องการขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ที่เดิมกำหนดให้มีผลบังคับใช้ในวันถัดไปหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่กรรมาธิการฯแก้ไขให้ขยายเวลาบังคับใช้เป็น 90 วันหลังประกาศใช้
นายวิทยา ผิวผ่อง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. กล่าวว่า ร่างพ.ร.ป.ฉบับนี้มี178 มาตรา กรรมาธิการฯ แก้ไข 30 มาตรา และบัญญัติเพิ่ม 2 มาตรา ซึ่งมาตราสำคัญที่กรรมาธิการฯ ปรับแก้ไข ได้แก่มาตรา 2 ที่ให้กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับ เมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป กรรมาธิการฯ ได้ชี้แจงเหตุผลการยืดระยะเวลาการบังคับใช้ เพื่อให้พรรคผู้เกี่ยวข้องได้ทำการศึกษากฎหมายก่อนปฏิบัติตาม
นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน กรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อยเสนอให้กฎหมายฉบับนี้ ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เนื่องจากมีเรื่องใหม่ที่พรรคการเมืองและกกต.ต้องดำเนินการ ดังนั้น หากขยาย 90 วัน แล้วไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ทันจะทำให้เกิดปัญหา จึงขอให้ขยับออกไปอีก 30 วัน เป็น 120 วัน
ขณะที่นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมาธิการฯ ตัวแทนจากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นกรรมาธิการเสียงข้างน้อย คงยืนยันให้เป็นไปตามร่างเดิมคือให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ในวันถัดไปหลังประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เพราะระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ 150 วันสามารถยืดหยุ่นได้ ซึ่งมากกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ที่กำหนดไว้เพียง 90 วัน ซึ่งพรรคการเมืองสามารถเตรียมการได้ทันอยู่แล้ว อีกทั้งที่ผ่านมารัฐบาล คสช. รวมถึงกกต. ไม่เคยหารือหรือส่งสัญญาณใด ๆ มายังกรธ.ว่าให้ขยายเวลาการบังคับใช้
ด้านนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสนช. อภิปรายตั้งคำถามต่อกรรมาธิการฯว่า เหตุใดจึงขยายระยะเวลาการบังคับใช้ เพราะตามสถิติที่มีการขยายระยะเวลา รัฐบาลจะเป็นผู้เสนอ แต่ในการปรับแก้ครั้งนี้สนช. เป็นผู้ปรับแก้เอง จึงอยากให้ผู้เกี่ยวข้องเช่นกกต.ชี้แจงว่าจำเป็นจะต้องขยายระยะเวลาหรือไม่ หรือเป็นเพียงการขยายระยะเวลาให้รัฐบาลปั่นผลงานในช่วงโค้งสุดท้าย
ส่วนนายสมชาย แสวงการ สมาชิกสนช. อภิปรายโดยอ้างถึงพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ให้พรรคการเมืองต้องปฏิบัติตาม โดยเฉพาะเรื่องการทำไพรมารี่โหวตในการหาตัวผู้สมัครรับเลือกตั้ง ที่จำเป็นต้องมี เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมือง ซึ่งมีข้อบังคับว่า ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนส่งรายชื่อผู้สมัครให้กกต. อีกทั้งยังมีเงื่อนไขเรื่องการสรรหากกต.ที่ยังไม่เรียบร้อย ดังนั้น ควรกำหนดขยายเวลาเผื่อไว้ 180 วัน เพื่อไม่ต้องมาออกคำสั่งคสช.อีก
นายเสรี สุวรรณภานนท์ กรรมาธิการฯเสียงข้างมาก ชี้แจงว่า ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามร่างเดิมแล้วพรรคการเมืองส่งผู้สมัครไปทัน จะมาอ้างได้ว่าเห็นช่องทางอยู่แล้วว่าไม่ทัน แล้วยังไม่แก้ไข จะถือเป็นการกลั่นแกล้งพรรคการเมือง
สำหรับประเด็นที่มีการอภิปรายกันมากอีกประเด็นคือ มาตรา 35 ที่กรรมาธิการฯเสียงข้างมากเพิ่มวรรค 4 กรณีที่ผู้มีสิทธิแล้วไม่ไปใช้สิทธิ จะถูกตัดสิทธิการสมัครเข้ารับราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของส่วนงานรัฐสภา และตัดสิทธิการได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการบริหารฝ่ายรัฐสภา รวมถึงสิทธิในการเป็นข้าราชการการเมือง จากตามร่างเดิมให้ตัดสิทธิสมัครส.ส. สมาชิกสภาท้องถิ่น เข้ารับการสรรหาเป็นส.ว. และสมัครเข้ารับเลือกเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้าน เท่านั้น
นายประพันธ์ นัยโกวิท กรธ. ซึ่งเป็นกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ขอให้คงตามร่างเดิม เพราะการกำหนดดังกล่าวจะกระทบกับสิทธิของประชาชน และเป็นห่วงเยาวชนที่เพิ่งอายุครบ 18 ปี อาจจะไม่เข้าใจ และบางครั้งอาจจะไม่ได้ไปใช้สิทธิ จะทำให้ถูกตัดสิทธิ์ในการสมัครเข้ารับราชการเมื่อเรียนจบ
ทั้งนี้ สนช.ที่อภิปรายส่วนใหญ่มองว่าการกำหนดดังกล่าวถือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ อาทิ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสนช. กล่าวว่าการเพิ่มวรรค 4 ดังกล่าวถือเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชนเกินสมควร ซึ่งรับไม่ได้ อีกทั้งส่อขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้สงสัยได้ว่า มีเจตนาเพิ่มข้อความดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การร้องให้ตีความว่ากฎหมายฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งถือว่าไม่ดีงาม และถูกมองว่าเป็นเรื่องการเมือง
นายตวง อันทะไชย สมาชิกสนช. กล่าวว่า เนื้อหาตามร่างเดิมเหมาะสมแล้วที่ตัดสิทธิทางการเมือง ในกรณีที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่การเพิ่มข้อความให้ตัดสิทธิการเข้ารับราชการ และพนักงานลูกจ้างรัฐสภา ถือเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชนเกินไป และเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากกรรมาธิการฯไปตัดออก จะไปร้องศาลรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน
ด้านกรรมาธิการเสียงข้างมากอาทิ นายเสรี สุวรรณภานนท์ นายธานี อ่อนละเอียด กล่าวว่า เรื่องขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถือเป็นความเห็นที่แตกต่าง แต่กรรมาธิการฯมีเจตนาที่จะทำให้คนมาออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งกันมาก ๆ และในกรณีที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ก็สามารถแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิ์ได้
สำหรับมาตรา 45 ที่กำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส. ต้องยื่นหลักฐานแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาติดต่อกัน 3 ปี เว้นแต่ผู้ไม่ได้เสียภาษีเงินได้ ให้ทำหนังสือยืนยันพร้อมทั้งสาเหตุการไม่เสียภาษีและเปิดเผยนั้น มีกรรมาธิการเสียงข้างน้อยขอตัดออก โดยให้เหตุผลว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคล
ขณะที่ในการอภิปรายมาตรา 75 วงเล็บ 3 เกี่ยวกับกำหนดให้การหาเสียงผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต้องยุติก่อนเวลา 18.00 น.ก่อนถึงวันเลือกตั้ง และแก้ไขให้สามารถ จัดแสดงมหรสพ งานรื่นเริง ประกอบการหาเสียงของพรรคการเมืองได้ เพื่อจูงใจให้ประชาชนรับฟังการหาเสียงมากขึ้น พร้อมกำหนดงบประมาณและเพดานในการหาเสียงเท่ากัน
โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ กรรมาธิการเสียงข้างมาก กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการใช้มหรสพมีการใช้ง่ายเงินที่มีเป้าหมายที่แน่นอน ดังนั้น การได้เปรียบเสียเปรียบไม่ใช่อุปสรรคปัญหา เพราะมีการควบคุมการใช้จ่ายเงิน ซึ่งการมีมหรสพยังเป็นการสร้างอาชีพ เปิดโอกาสในช่วงเลือกตั้งให้กับประชาชนสามารถสร้างรายได้ รวมทั้งยังปลูกฝังนโยบายให้กับเยาวชนไปในคราวเดียวกัน พร้อมย้ำว่า สิ่งที่กรรมาธิการเสนอถือเป็นความกล้าที่จะพัฒนาประเทศ ที่สำคัญการจัดมหรสพไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้งว่าจะสุจริต ยุติธรรม ฉะนั้น การจัดมหรสพไม่กระทบต่อการเลือกตั้ง
ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ สนช. อภิปรายว่า ควรต้องกำหนดให้ชัดเจนว่ามหรสพใดที่เข้าข่ายจากกระทำได้หรือไม่ได้ กำหนดกรอบวงเงินที่สามารถนำมาดำเนินการเพื่อจัดมหรสพอย่างชัดเจน เพื่อไม่เป็นการเปิดช่องให้ใช้เงินในการจัดมหรสพมากเกินกว่าความเป็นจริง
นายตวง อันทะไชย สมาชิก สนช. เห็นว่า การจ้างดารามาแข่งกัน เป็นการสร้างมิติใหม่ทางการเมือง แต่ต้องคำนึงถึงค่านิยมและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เห็นควรใช้วิธีการอื่น เพราะการทำเช่นนั้น ไม่สามารถควบคุมได้และอาจเป็นการสร้างปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม
ด้านนายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมาธิการฯ เห็นควรกำหนดให้ กกต. สามารถเข้าไปตรวจสอบการจัดมหรสพของพรรคการเมืองได้ มิเช่นนั้นอาจทำให้การเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่
ส่วนมาตรา 75 เรื่องเกี่ยวกับเครื่องลงคะแนน สมาชิกบางส่วนเห็นควรให้ตัดออก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม สนช. ใช้เวลาในการพิจารณาร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จนถึง 18.00น. ยังไม่แล้วเสร็จ พิจารณาถึงมาตรา87 จาก 174 มาตรา โดยหลังพิจารณาครบแล้วจะมีการลงมติรายมาตรา ตามวาระ2 และวาระ3ต่อไป.-สำนักข่าวไทย
