สถาบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) 20 ม.ค.- วงเสวนา เหลียวหน้าแลหลังสถานการณ์การเมืองไทยปี 2561 มองเลื่อนการเลือกตั้งไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น บรรเจิด ระบุยังไม่เห็นการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมจาก รัฐบาล คสช. ขณะที่กกต.แนะควรให้การเมืองเป็นเรื่องธรรมชาติ นายกฯคนนอกควรเป็นคำตอบเมื่อเกิดปัญหา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ( นิด้า ) และ สถาบันปฏิรูปประเทศไทย มหาวิทยาลัยรังสิต จัดเวทีเสวนา “เหลียวหน้าแลหลังสถานการณ์การเมืองไทยปี 2561″โดยนายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธาน ครป. กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้รัฐบาลตกต่ำลงส่วนหนึ่งมาจากการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่ได้ผล การบริหารจัดการธรรมาภิบาลของคนในองค์กรให้เกิดความโปร่งใสไม่ได้ การให้อำนาจข้าราชการมากเกินไป การปฏิรูปที่ยังไม่เห็นผลสัมฤทธิ์ และ หากไม่มีการเลือกตั้งในปีนี้ ก็จะยิ่งทำให้นายกรัฐมนตรี กลายเป็นคนที่เสียคำพูด ส่วนตัวเชื่อว่าการเลื่อนเวลาจัดการเลือกตั้งออกไปไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น พร้อมเสนอ คสช. อย่าตั้งเป้าที่จะกลับมาเป็นรัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องวางอุเบกขา หลังเลือกตั้งต้องวางมือ ส่วน สว.อย่าไปยุ่งเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ให้ทำหน้าที่เพียงเป็นฝ่ายตรวจสอบเพื่อให้เกิดสมดุลทางอำนาจ ประคับประคองประชาธิปไตย ให้เดินหน้าต่อได้อย่างราบรื่น
ด้านนายบรรเจิด สิงคะเนติ คณะอนุกรรมาธิการด้านองค์กรตามรัฐธรรมนูญคณะที่ 1 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ระบุ ตั้งแต่มี คสช.เข้ามา มีการปฏิรูป 3 รอบ ตั้งแต่ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ แต่ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม เช่น การปฏิรูปตำรวจ ที่มีคณะกรรมการปฏิรูปเป็นตำรวจจนเกินกว่าครึ่ง ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงจึงไม่เกิดขึ้น และรู้สึกหมดหวังกับการปฏิรูปประเทศ เพราะทั้งหมดขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจในขณะนี้ โดยที่ไม่ตั้งโจทย์ว่า ประชาชนจะได้อะไร
“การที่เราเรียกร้องให้มีการปฏิรูปเพราะที่ผ่านมาโครงสร้างดุลอำนาจไม่ลงมาสู่ประชาชน หากมีการปรับดุลอำนาจจะลดความเหลื่อมล้ำได้ แต่วันนี้ฝ่ายการเมือง และ ฝ่ายทหาร ก็ทำให้รู้ว่าไม่ต้องการที่จะปรับดุลอำนาจ”นาย บรรเจิด กล่าว
ขณะที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การเมืองไทยขณะนี้ ให้ความรู้สึกเหมือน กำลังถอยหลัง เพราะลักษณะของไทยนิยม คล้ายกับสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รวมไปถึงการมองหานายกรัฐมนตรีคนนอก คล้ายกับการย่ำเท้าอยู่กับที่ เพราะเมื่อก่อนก็เคยมี แต่ก็ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น และวนเวียนกลับไปมา จึงเตือนให้ระวังเกิดเหตุซ้ำรอยความขัดแย้งรุนแรงในอดีต
“ประชาชนไม่ต้องคาดหวังกับใคร ไม่ต้องหวังจะให้มีอัศวินขี่ม้าขาว ถ้ายังมองเหลียวหลังไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ในอดีต จะมัวแต่หวังนักการเมืองหลังเลือกตั้ง หรือ ทหาร คงไม่มีใครทำอะไรเพราะความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จากประชาชน ไม่ใช่กฎหมาย”น.ส.รสนา กล่าว
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) มองอนาคตทางการเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้งแม้ว่าจะมีการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร( ส.ส.) ต่อไปอีก 90 วัน แต่เมื่อรวมกับระยะเวลาตามกฎหมายอีก 150 วัน เวลาทั้งหมดคือ 240วัน หรือ 8 เดือน หากประเมินว่า กฎหมายฉบับดังกล่าว จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเดือนมีนาคม กรอบเวลาจัดการเลือกตั้งก็ยังจะเป็น เดือนพฤศจิกายนเช่นเดิม หรืออย่างช้า คือ ต้นปี 2562 ไม่เกินนี้ พร้อมเตือนสตินายกรัฐมนตรีว่า นักการเมืองไทยที่เคยทาบทาม หรือ รับปาก เมื่อครั้งเดินทางไปต่างจังหวัด ทั้งในภาคเหนือและภาคกลาง จะไม่รักษาสัญญา แต่จะยึดผลประโยชน์เฉพาะหน้าเป็นหลัก ดังนั้นคำว่าไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร เป็นสิ่งที่พึงระลึกไว้ ทั้งนี้ควรปล่อยให้การเมืองเป็นเรื่องธรรมชาติ ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ส่วนนายกรัฐมนตรีคนนอก ควรเป็นคำตอบเมื่อเกิดปัญหา ไม่ใช่ประเด็นตั้งต้น ตั้งแต่เริ่มการเลือกตั้ง.-สำนักข่าวไทย