คนร.เห็นชอบเอสเอ็มอีแบงก์ออกแผนฟื้นฟู

ทำเนียบฯ 19  ม.ค. – ซุปเปอร์บอร์ดเห็นชอบเอสเอ็มอีแบงก์ออกแผนฟื้นฟู หลังแก้ไขหนี้เสียจากร้อยละ 40 เหลือร้อยละ 16.8  สั่งคลังเดินหน้าแก้ไขกฎหมายไอแบงก์ เติมทุนใหม่ เร่งหาพันธมิตรให้เสร็จภายในมีนาคม  สั่ง รฟท.เร่งหารายได้จากที่ดินชดเชยภาระหนี้  และ คนร.ตั้งคณะอนุกรรมกำกับดูแลกิจการที่ดี คุมรัฐวิสาหกิจบริหารงานโปร่งใสไม่ต้องเข้าแผนฟื้นฟูเหมือนกับ 7 แห่ง 


นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ  (คนร.)  ครั้งที่ 1/2561 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ออกจากแผนการแก้ไขปัญหาองค์กร หรือแผนฟื้นฟู เนื่องจากตลอด 3 ปีที่ผ่านมาแก้ปัญหาองค์กรดีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ผลการดำเนินงานดีขึ้น จากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ร้อยละ 40 เหลือร้อยละ 16.8  ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ถึง 98,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นรายย่อยไม่เกิน 15 ล้านบาท เฉลี่ย 3.2 ล้านบาทต่อราย สัดส่วนกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง BIS ร้อยละ 11.7 สูงกว่ามาตรฐานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และยังได้รับการจัดอันดับเครดิตเรตติ้ง AAA เหมือนกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เมื่อมีผลประกอบการดีขึ้น วางระบบบริหารจัดการระบบการทำงานที่ดี มีมาตรฐาน และช่วยแก้ไขปัญหาในอดีตจากการทุจริตสินเชื่อ  รวมถึงสร้างความยั่งยืนในการประกอบกิจการด้วย ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด 

ส่วนแผนฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจ 6 แห่งที่เหลือนับว่าผลประเมินอยู่ในระดับพอใจ แต่ต้องติดตามเพิ่ม คนร.จึงสั่งการให้กระทรวงการคลังเสนอแก้ไขกฎหมายธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพียงวาระเดียวในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อแก้ไขข้อจำกัดการถือหุ้นของกระทรวงการคลังไม่เกินร้อยละ 49 จากนั้นกระทรวงการคลังจะเพิ่มทุนใช้เงินไม่ต่ำกว่า 18,000 ล้านบาท เพื่อให้ลดความเสี่ยงจากขาดทุนสะสม 18,000 ล้านบาท  หวังสร้างความเชื่อมั่นให้พันธมิตรใหม่ ซึ่งต้องเจรจาหาข้อสรุปให้ได้เร็ว ๆ นี้ หลังจากแยกหนี้ดีประมาณ 50,000 ล้านบาท และแยกหนี้เสียที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPF) ในส่วนที่ไม่ใช่มุสลิมไปยังบริษัท บริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (IAM) เพื่อบริหารจัดการหนี้ โดย คนร.ยังกำหนดกรอบเป้าหมายการดำเนินงานของธนาคารให้มีผลประกอบการเป็นกำไรสุทธิในปี 2561 และหาพันธมิตรให้ได้ภายในเดือนมีนาคมนี้  ส่วนปัญหาการทุจริตปล่อยสินเชื่อยังเดินหน้าต่อไปเหมือนเดิมจากผู้เกี่ยวข้อง ขณะนี้ได้ส่งเรื่องไปให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 13 คดี , สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) 15 คดี  ,สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน  (ปปง.) 1 คดี เอาผิดทางวินัย 48 คดี, ความผิดทางแพ่ง 26 คดี กำชับให้เอาผิดให้ถึงที่สุด 


ด้านการแก้ไขปัญหาของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT คนร.สั่งให้รัฐวิสหกิจทั้ง 2 แห่งจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรระยะ 10 ปีให้ชัดเจน ในการนำนโยบายดิจิทัลมาใช้ เพื่อกำหนดทิศทางการให้บริการลดปัญหาการลงทุนและภารกิจซ้ำซ้อน  เมื่อร่วมกันตั้งบริษัทลูกทั้งบริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC) ในการวางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและเคเบิ้ลใยแก้วใต้น้ำ และมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกำกับให้ทั้ง 2 บริษัทดำเนินการถ่ายโอนทรัพย์สินที่จำเป็นต้องใช้ในการประกอบกิจการไปยังบริษัท NBN และบริษัท NGDC ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดภายในเดือนมีนาคม 2561 

ส่วนการแก้ไขปัญหาของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ได้สั่งการให้การบินไทยเร่งนำระบบ Revenue Management System (RMS) และระบบ Network Management System (NMS) มาใช้ให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นและควบคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่น้ำมัน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายฝ่ายช่างหรือฝ่ายอื่น  และนำระบบบริหารจัดการหารายได้ และสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านราคา  โดยคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยในการให้บริการด้วย นอกจากนี้ คนร.ยังได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับการบินไทยพิจารณารูปแบบในการธุรกิจให้สอดคล้องกับภาวะอุตสาหกรรมในปัจจุบัน และพิจารณาเส้นทางการบินและแบบฝูงบินให้มีความสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ 

ขณะที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) รับทราบแผนจัดซื้อรถโดยสาร NGV  489 คัน และจัดทำแผนขับเคลื่อนองค์กรระยะยาวแล้ว โดย คนร.สั่งการให้ ขสมก.พิจารณากำหนดทิศทางการให้บริการของ ขสมก.ที่ชัดเจนสอดคล้องกับแผนปฏิรูปเส้นทางที่กรมการขนส่งทางบกได้เริ่มดำเนินการแล้ว และเชื่อมโยงกับระบบขนส่งมวลชนประเภทอื่นด้วย เช่น รถไฟฟ้า รถไฟ และทางเรือ เป็นต้น และขอให้ ขสมก. พิจารณาเปิดเผยข้อมูลที่ได้รับจากระบบตรวจสอบและติดตามการเดินรถ (GPS) และ/หรือระบบขนส่งมวลชนอื่นเพื่อให้เป็นข้อมูลที่บุคคลทั่วไปสามารถใช้ในการพัฒนาแอพพลิเคชั่น เพื่อประโยชน์ในการรับบริการของประชาชนได้ (Open Data) หวังบริการประชาชนในการขึ้นรถเมล์ดูว่ารถเมล์เดินทางถึงไหนแล้ว   นอกจากนี้  คนร.ได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบกกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประมูลผู้ประกอบการเดินรถเส้นทางใหม่และกำหนดประเภทรถที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสาร


ด้านการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รายงานที่ประชุมเกี่ยวกับการลงนามสัญญาการก่อสร้างทางคู่  5 เส้นทาง คาดว่าจะก่อสร้างงานโยธาเสร็จปี 2563 และอยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อเดินรถและซ่อมบำรุง (Operation & Maintenance) ในโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และบริษัทลูกเพื่อบริหารสินทรัพย์ของ รฟท. ทั้งนี้ ในการจัดทำแผนการขับเคลื่อนองค์กรระยะยาว คนร.ได้สั่งการให้ รฟท. กำหนดทิศทางการดำเนินการให้สอดคล้องกับภารกิจขององค์กรและภารกิจของกรมการขนส่งทางราง  และนำที่ดินจำนวนมากกำหนดแผนบริหารจัดการเพื่อสร้างรายได้นำมาชดเชยภาระขาดทุนของ รฟท. รวมทั้งโครงสร้างของธุรกิจการขนส่งระบบรางในอนาคต นำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน จัดทำฐานข้อมูลทรัพย์สิน และปรับปรุงระบบบัญชีและงบการเงินให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินของ รฟท.ได้อย่างยั่งยืน 

นายเอกนิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม คนร.ยังแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและพัฒนาระบบธรรมาภิบาลในรัฐวิสาหกิจ ซึ่งองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการจะมีผู้แทนทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance) โดยมีนายรพี สุจริตกุล กรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เป็นประธานอนุกรรมการ ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการดังกล่าวจะมีหน้าที่ในการวิเคราะห์ระบบการกำกับดูแลและระบบธรรมาภิบาลของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งสภาพปัญหาและอุปสรรคการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในปัจจุบัน พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางการพัฒนาระบบการกำกับดูแลและธรรมาภิบาลของรัฐวิสาหกิจให้เหมาะสม เพื่อให้การบริหารงานของรัฐวิสาหกิจเป็นไปอย่างโปร่งใส มีธรรมาภิบาลที่ดี และมีประสิทธิผลสูงสุด ยังเพิ่มอำนาจอนุกรรมการเข้าไปตรวจสอบความผิดเกี่ยวกับธรรมาภิบาลได้ เพื่อดูแลรัฐวิสาหกิจไม่ให้เข้าสู่การฟื้นฟูกิจการเหมือนกับ 7 แห่งในปัจจุบัน.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

มุกใหม่มิจฉาชีพ

มุกใหม่มิจฉาชีพ! ป่วนโทรแจ้ง ตร. เกิดเหตุร้ายที่บ้านเหยื่อ

อินฟลูฯ สาว สายทำอาหาร ถูกมิจฉาชีพอ้างเป็นตำรวจโทรหา แต่เธอไม่เชื่อ โดนท้าอีก 10 นาทีเจอกัน ปรากฏว่า มีตำรวจจาก 2 โรงพักบุกมาที่บ้านจริง

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา บอกสนามใหญ่ ไม่เข้าไปก้าวก่ายสนามท้องถิ่น ซ้ายก็เพื่อน ขวาก็พวก

ครม.เคาะแจกเงินหมื่นเฟส 2 ผู้สูงอายุ 60 ปี

“จุลพันธ์” เผย ครม.เห็นชอบโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มผู้สูงอายุ วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการทันก่อน 29 ม.ค.68 รวม 3 มาตรการ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ 1.4-1.5 แสนล้านบาท

ข่าวแนะนำ

ข่าวแห่งปี 2567 : รวมฉ้อโกง “ดารา-คนดัง” ไม่รอด

ตลอดปี 2567 ยังมีผู้คนตกเป็นเหยื่อของกลโกง มิจฉาชีพ ที่มาในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการลงทุนรูปแบบใหม่ๆ บางคนถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัว และที่น่าตกใจเริ่มมีคนดังเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีมากขึ้น

หมอชิต 2 คึกคัก ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาฉลองปีใหม่

บรรยากาศการเดินทางหมอชิต 2 คึกคัก ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวในช่วงหยุดยาวปีใหม่ ด้าน รฟท. คาดผู้โดยสารเดินทางขาออกวันนี้ 1 แสนคน

รถเริ่มแน่น! สายเหนือ-อีสาน การจราจรชะลอตัว

ประชาชนทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนา หยุดยาวปีใหม่ ถ.พหลโยธิน มุ่งหน้าสายอีสาน รถแน่น ส่วนถนนสายเอเชีย ขึ้นเหนือ รถเคลื่อนตัวได้ช้า