กทม. 18 ม.ค.-การประชุมของคณะกรรมการค่าจ้างเคาะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ 5-22 บาท แบบ 17 กลุ่มจังหวัด นับเป็นการปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 5 ปี เบื้องหลังการพิจารณาตัวเลขที่ปรับขึ้นได้มาอย่างไร ติดตามจากรายงาน
บอร์ดค่าจ้างถกมาราธอนนานกว่า 5 ชั่วโมง ในที่สุดได้ข้อยุติปรับขึ้นค่าจ้าง 5-22 บาททั่วประเทศ แบ่งเป็น 7 ระดับ สูงสุด 330 บาท อยู่ที่กลุ่มจังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษ อย่างภูเก็ต ชลบุรี และระยอง ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ครองแชมป์มาตลอดกลับเป็นรองอยู่ที่ 325 บาท ขณะที่ 8 จังหวัดที่เคยผิดหวังไม่ได้ขึ้นมากว่า 4 ปี อย่าง 3 จังหวัดชายแดนใต้ ใจชื้น เพราะได้ปรับขึ้นเป็น 308 บาท หัวเรือใหญ่บอร์ดค่าจ้างชี้การปรับขึ้นอิงสภาพเศรษฐกิจ ค่าครองชีพแต่ละจังหวัด เหมาะสม เป็นธรรมต่อนายจ้างและลูกจ้างมากที่สุด
นับเป็นประวัติศาสตร์การขึ้นค่าจ้าง หลังไม่ได้ปรับขึ้นทุกจังหวัด และตัวเลขสูงขนาดนี้มานานกว่า 5 ปี เพราะนับแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ปรับค่าจ้างเป็น 300 บาทเท่ากันทั้งประเทศ เมื่อ 1 มกราคม 2556 ค่าจ้างขั้นต่ำถูกดองมานานกว่า 3 ปี จนปี 2560 ได้ปรับค่าจ้างขึ้น 5-10 บาท แต่ไม่ทั่วประเทศ มี 8 จังหวัดถูกลอยแพ อ้างเศรษฐกิจในพื้นที่คงที่ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มค่าจ้าง หนึ่งในคณะกรรมการที่เป็นปากเป็นเสียงแทนลูกจ้างมากว่า 3 รัฐบาล ยอมรับการปรับขึ้นค่าจ้างในอัตราสูงเช่นนี้เป็นเรื่องยาก เพราะการประชุมฝ่ายรัฐมักเอื้อนายจ้าง การพิจารณานอกจากยึดหลักสภาพเศรษฐกิจแล้ว ยังขึ้นอยู่กับทิศทางการเมืองในแต่ละปี ช่วงไหนจะเลือกตั้ง ค่าจ้างจะถูกปรับขึ้นสูง รอบนี้ก็ไม่ต่างกัน เพียงแต่มีแบบแผนมากกว่า ไม่เพียงปรับขึ้นค่าจ้าง รัฐยังผุดแนวทางช่วยนายจ้าง ทั้งลดหย่อนภาษี 1.5 เท่าของค่าจ้าง ลดเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้างร้อยละ 1 จากเดิมร้อยละ 5 เป็นเวลา 1 ปี แต่
ประธานสภาผู้ส่งออกบอกช่วยได้ไม่มาก เพราะการขึ้นค่าจ้างทำให้ต้นทุนสูงขึ้นร้อยละ 1 ประกอบกับเงินบาทแข็งค่า อาจส่งผลให้การส่งออกขาดทุนสูงถึงร้อยละ 4 และกระทบหนักในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ใช้แรงงานเข้มข้น
แม้ค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่จะสูง แต่อาจไม่การันตีคุณภาพชีวิต หากรัฐไม่ควบคุมสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้ฉวยโอกาสขึ้นราคา พร้อมออกมาตรการอุ้มนายจ้างที่ชัดเจน ความพยายามในการปรับขึ้นที่ยืดเยื้อข้ามปีอาจไม่ตอบโจทย์รัฐที่ต้องการยกระดับความของแรงงานให้ดีขึ้น.-สำนักข่าวไทย