นนทบุรี 18 ม.ค. – รัฐมนตรีพาณิชย์ย้ำค่าแรงขึ้นไม่กระทบต้นสินค้ามากนัก สัปดาห์หน้าเชิญทุกกลุ่มหารือ วอนพบเห็นโก่งราคาแจ้งสายด่วน 1569 เจอโทษหนักแน่
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สุปดาห์หน้าได้เชิญกลุ่มผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่และภาคเอกชนทุกกลุ่มอุตสาหกรรมมาประชุมหารือถึงผลกระทบจากการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 5-22 บาทต่อวันทั่วประเทศ ซึ่งโดยเฉลี่ยจะกระทบต่อต้นผลิตสินค้าและบริการสูงสุดร้อยละ 0.1 และต่ำสุดเฉลี่ยร้อยละ 0.0008 เท่านั้น ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์เห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคเพิ่มขึ้นตามอัตราแรงงานที่เพิ่มขึ้นครั้งนี้แต่อย่างใด
นอกจากนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจกระทรวงพาณิชย์จะเปิดโอกาสรับฟังปัญหาและผลกระทบดังกล่าวในการประชุมร่วม หากผู้ประกอบการรายใดเห็นว่าได้รับผลกระทบจากจะปรับขึ้นค่าแรงงานครั้งนี้สามารถชี้แจงต้นทุนการปรับเพิ่มขึ้นอย่างละเอียดและยื่นหนังสือเสนอขอปรับราคามายังกรมการค้าภายในก่อน หากเห็นว่ากระทบจริงจะให้ปรับราคาสินค้าขึ้นตามต้นทุนที่กระทบ แต่หากเห็นว่ายังสามารถรับภาระได้ ทางกระทรวงพาณิชย์จะขอความร่วมมือช่วยกันตรึงราคาสินค้าเดิมไปก่อน เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับประชาชน และหากประชาชนพบเห็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมขายสินค้าแพงเกินจริงสามารถร้องเรียนสายด่วน 1569 ได้ทันที ซึ่งผู้ที่ขายสินค้าเกินกว่าที่กำหนดเข้าข่ายกระทำผิดต่อกฎหมายว่าด้วยสินค้าและบริการ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับต่อไป
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้คิดเป็นอัตราเพิ่มร้อยละ 3.4 โดยเฉลี่ยทั่วประเทศนั้น ถือว่าเป็นขนาดการปรับเพิ่มที่ไม่มากไม่น้อยเกินไปและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง แต่ยังไม่กระจายตัวมากนัก โดยจะส่งผลดีให้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้นและส่งผลดีต่อการบริโภคในภาพรวม และช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เช่น จากข้อมูลการสำรวจพบว่ากลุ่มลูกจ้างที่มีรายได้ในปัจจุบันต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่จะประกาศใหม่มีอยู่ประมาณร้อยละ 12 เมื่อประกาศใช้ค่าแรงขั้นต่ำอัตราใหม่จะทำให้คนกลุ่มนี้มีรายได้เพิ่มขึ้นและช่วยบรรเทาภาระหนี้ครัวเรือนของกลุ่มดังกล่าวที่ยังอยู่ในระดับสูงได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อความสามารถของผู้ประกอบการที่จะแบกรับภาระต้นทุนค่าจ้างที่สูงขึ้น เป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กซึ่งมีต้นทุนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานรายได้ขั้นต่ำเป็นค่าใช้จ่ายหลักของกิจการ
สำหรับผลของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต่อเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่ ธปท.จะติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิด โดยผลกระทบต่อเงินเฟ้อจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการเพิ่มขึ้นของรายได้เฉลี่ยของลูกจ้าง ภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น และการแข่งขันของผู้ประกอบการ ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจปรับขึ้นราคาของผู้ประกอบการ
ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้เป็นการปรับในอัตราที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นวิธีการที่มีความเหมาะสม เพราะคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจสังคมของพื้นที่เป็นปัจจัยสำคัญ เช่น ปรับขึ้นค่าแรงอัตราสูงในพื้นที่อีอีซี ซึ่งผู้ประกอบการมีศักยภาพในการสร้างผลิตภาพจากแรงงานที่จ้างอย่างคุ้มค่า หรือในกรณีที่ปรับขึ้นค่าแรงไม่มากในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะคำนึงถึงการประคองภาวะเศรษฐกิจท่ามกลางเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น.-สำนักข่าวไทย