กทม. 14 ม.ค. – เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับทิศทางการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ทำให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ทุกสาขา เกือบทุกสถาบัน ต้องเร่งปรับหลักสูตรผลิต “ยอดวิศวกร” ที่มีทักษะรอบด้าน สู้กับการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้แทนแรงงานคน
การฝึกขับเครื่องบินในเครื่องจำลองการฝึกบินเต็มรูปแบบ หรือ Full Flight Simulator ทั้งในสถานการณ์ปกติและไม่ปกติ เพื่อให้เกิดความชำนาญ ก่อนไปฝึกขับเครื่องบินจริง เป็นทักษะที่นักศึกษาสาขาวิศวกรรมการบินและนักบินพาณิชย์ทุกคนต้องฝึกอย่างเข้มข้น ก่อนก้าวไปสู่การเป็นนักบินอาชีพ หลักสูตรนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะเรียนจบไปสามารถทำงานได้ทั้งในด้านวิศวกรรมการบิน และเป็นนักบินพาณิชย์ซึ่งกำลังขาดแคลนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นอาชีพที่มีค่าตอบแทนสูง เริ่มตั้งแต่ 70,000 ถึงหลายแสนบาทต่อเดือน
นอกจากอาชีพด้านการบินแล้วยังมีคณะไหน สาขาไหนที่เรียนจบแล้ว ในอีก 4 ปีข้างหน้าไม่ตกงาน และได้ค่าตอบแทนสูง เป็นโจทย์ที่เด็กและผู้ปกครองพยายามคาดการณ์ แต่ในมุมของอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง บอกว่ายากที่จะชี้ชัดได้ เพราะขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่กระทบกับทุกอาชีพ โดยเฉพาะด้านวิศวกรรมศาสตร์ ทุกสาขาต้องปรับหลักสูตรอย่างเข้มเข้ม ให้มีทักษะชั้นสูงอย่างรอบด้าน
จากยุทธศาสตร์ 20 ปี หรือไทยแลนด์ 4.0 ที่ใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในปีนี้ จึงเห็นการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาทำงานแทนแรงงานคนเพิ่มขึ้นใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่สอดรับกับการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 หลังผลศึกษาของสถาบันไทย-เยอรมัน ชี้หากโรงงานในไทยที่มีอยู่กว่า 140,000 แห่ง ไม่นำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ภายใน 5 ปี อุตสาหกรรม 85% จะไม่สามารถแข่งขันได้ เสี่ยงปิดกิจการ ขณะที่บีโอไอออกมาตรการต่างๆ กระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติแทนแรงงานคน
เทคโนโลยีที่เปลี่ยน สร้างแรงกระเพื่อมต่อสถาบันการศึกษาอย่างรุนแรง นอกจากต้องปรับหลักสูตรใหม่ทั้งหมดแล้ว ล่าสุด คณะวิศวกรรมศาสตร์ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และจุฬาฯ ยังนำร่องเตรียมผลิต “ยอดวิศวกร” ที่มีความรู้หลากหลาย ร่วมกันรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจยุค 4.0 ที่เน้นการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้แทนแรงงานคนในอนาคต. – สำนักข่าวไทย