สำนักข่าวไทย 11 ม.ค.-อธิบดีกรมอนามัย เผยอัตราการเกิดของคนไทยลดลง ปี 60 เด็กเกิดน้อยกว่า 7 แสนคน เตรียมชูสิทธิประโยชน์จูงใจให้ คนไทยมีบุตรทั้งการลดหย่อนภาษี , เพิ่มวันลาคลอดและลดค่าใช้จ่ายเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ช่วยคนมีลูกยาก หลังพบคู่สมรสไทย ร้อยละ 11 มีบุตรยาก เหตุแต่งงานช้า , เครียดการทำงาน
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)กล่าวถึงสถานการณ์ประชากรเด็กไทยว่า ปัจจุบันอัตราการเกิดของคนไทยลดลง โดยในปี 2560 ที่ผ่านมา คาดว่าอัตราการเกิดของเด็กไทย น้อยกว่า 700,000 คนต่อปี จากปี 2559 มีอัตราการเกิด 704,058 คนต่อปี ทั้งนี้พบว่า อัตราการเกิดของคนไทยสูงที่สุด ปี 2513 มีเด็กเกิดมากถึง 1,300,000 คนต่อปี และถือว่าประเทศไทยเลยยุคทองของการเกิดที่สูงเฉลี่ยปีละ 1 ล้านคนต่อปีไปแล้ว ดังนั้นแผนพัฒนาอนามัยเจริญพันธุ์แห่งชาติเตรียมรณรงค์ให้คงสภาพอัตราการเกิดในประชากรเฉลี่ยต่อปี
ไม่ต่ำกว่า 700,000 คน ,มุ่งให้ความรู้คู่สมรส ในการเตรียมความสำหรับการมีบุตร มีการวางแผน เพื่อเพิ่มคุณภาพของประชากรในการเกิด ,
การปรึกษาวางแผนการมีบุตรล่วงหน้า ,การรับประทานโฟเลต
นพ.วชิระ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลพบว่าร้อยละ11 ของคู่สมรสมีบุตรยาก มีสาเหตุมาจากการแต่งช้า,มีความเครียดสะลมจากการทำงาน ซึ่งช่วง เวลาที่เหมาะสมของการมีบุตรอยู่ที่อายุระหว่าง20–35ปี ,โดยช่วงทองของการตั้งครรภ์จะอยู่ในช่วงอายุ 24-29 ปี แม้ว่าปัจจุบันสังคมไทย จะมีการวางแผนอัตราการเกิดของประชากรด้วยดีขึ้น จากการสำรวจ มีการวางแผน ฝากครรภ์มากกว่า 8 ครั้ง และมีการคลอดบุตรในสถานพยาบาลถึงร้อยละ 99 ส่วนคุณภาพของประชากรเด็กที่แรกเกิดพบว่า ดีขึ้น ทั้งการมีน้ำหนักเกิน 2,500 กรัม และหากมองในระดับการเจริญวัยเฉลี่ย 0-2 ปี พบว่าร้อยละ 80 มีพัฒนาการดี แต่ในส่วนของเด็กอายุ 2-5ปีที่มักมีการดูแลในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำเป็นต้องพัฒนาอีกมาก เนื่องจากปัจจุบันมีการแบ่งอำนาจการดูแล และพัฒนาศูนย์เด็กเล็กที่แตกต่างกัน ทั้งของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.),กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.),กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งต้องมีการปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานให้เท่าเทียมกัน
นพ.วชิระ กล่าวอีกว่า ส่วนในอนาคตระยะยาวการเพิ่มอัตราการเกิด รัฐบาลจะเพิ่มสิทธิประโยชน์ กระจายไปตามหน่วยงาน กระทรวงต่าง ๆ ทั้งการลดภาษีในกระทรวงการคลัง, การเพิ่มวันลาคลอด,การให้นำค่าเลี้ยงดูบุตรมาลดหย่อนภาษีได้ ในอนาคคตทางคณะกรรมการการเจริญพันธุ์ ที่มีราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย มีแนวคิด อัตราการค่าใช้จ่าย สำหรับคู่สมรสที่มีปัญหามีบุตรยาก เอื้อประโยชน์ให้สามารถเข้าถึงบริการ โดยขณะนี้วิธีการดังกล่าวอยู่ในระหว่างการหารือของราชวิทยาลัยฯและภาครับ คาดว่าจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างในอีป 5 ปี ข้างหน้า .-สำนักข่าวไทย