สำนักงาน กกต. 10 ม.ค. – กกต.เตรียมเปิดให้ผู้สนใจจดตั้งพรรคการเมืองใหม่รับฟังแนวทางดำเนินการตามกฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่ 9 ก.พ.นี้ เผย มี 10 กลุ่มยื่นความประสงค์เข้ารับฟัง โดยยังไม่พบมียศทหารหรือผู้มีชื่อเสียง
พ.ต.ท.จรุงวิทย์ ภุมมา รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รักษาการเลขาธิการ กกต. กล่าวว่า หลังจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้ สำนักงาน กกต.จะจัดโครงการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินกิจการแก่พรรคการเมืองสำหรับกลุ่มบุคคลที่มีความประสงค์จะจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ นี้ เนื่องจากกฎหมายพรรคการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาหลายประเด็น เช่น การทำไพร์มารี่โหวตในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง การลงโทษหากไม่ทำตามกฎหมาย
รองเลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ขณะนี้มีกลุ่มบุคคล 10 กลุ่มแจ้งชื่อ สนใจเข้ารับฟังการชี้แจงแนวทางเตรียมความพร้อม ซึ่งยังไม่ปรากฏมียศทหารหรือผู้มีชื่อเสียงเข้ารับฟัง และการเข้ารับฟังสามารถเข้าร่วมได้กลุ่มละไม่เกิน 3 คน โดยกลุ่มบุคคลที่สนใจสามารถลงทะเบียนหรือขอรายละเอียด ได้ที่สำนักงาน กกต. ตั้งแต่วันนี้ (10 ม.ค.) ถึง 26 มกราคมนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมสถานที่ ข้อมูลไว้อำนวยความสะดวก
พ.ต.ท. จรุงวิทย์ กล่าวว่า ตามประกาศหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ให้พรรคการเมืองที่ประสงค์จัดตั้งใหม่เริ่มดำเนินการในวันที่ 1 มีนาคม ส่วนพรรคการเมืองเก่าต้องดำเนินการยืนยันข้อมูลสมาชิกให้เป็นปัจจุบันระหว่างวันที่ 1-30 เมษายน ซึ่งตามประกาศ คสช.ให้แจ้งไปยังหัวหน้าพรรคการเมืองได้ โดยไม่จำเป็นต้องรับรองผ่านที่ประชุมใหญ่พรรคการเมือง แต่หากจะจัดการประชุมใหญ่ต้องขออนุญาตจาก คสช. คำสั่ง คสช.เป็นการเริ่มต้นเตรียมการของพรรคการเมือง เชื่อว่า คสช.จะพิจารณากรอบเวลา และการดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อไปสู่การเลือกตั้ง แต่หากจะมีการอ้างเหตุผลที่บอกว่าเพื่อความมั่นคงนั้น คงไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้
ด้านนายสมพล พรผล ผู้อำนวยการสำนักกิจการพรรคการเมือง กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีพรรคการเมืองมีความเป็นห่วงว่าการปลดล็อคล่าช้าจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องการจัดทำไพรมารี่โหวต ว่า ตามเนื้อหาในร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)กำลังพิจารณาอยู่นั้น ได้กำหนดว่า หลัง พ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.บังคับใช้ ต้องมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งภายใน 90 วัน จากนั้น กกต.ต้องประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง ประกาศจำนวนส.ส. ประกาศเขตเลือกตั้งภายใน 5 วัน ที่สำคัญคือต้องประกาศ ซึ่งกฎหมายระบุว่าต้องประกาศวันรับสมัครภายใน 20 วัน นับแต่มีพระราชกฤษฎีกา เท่ากับพรรคการเมืองเหลือเวลาที่จะดำเนินกระบวนการจัดทำไพรมารีโหวตประมาณ 19 วันเท่านั้น แม้ในพื้นที่ขณะนี้พรรคการเมืองจะทราบว่าการแบ่งเขตจะเป็นอย่างไร แต่ก็ต้องรอกฎหมายเลือกตั้งบังคับใช้ และรอการประกาศเขตเลือกตั้งก่อน จึงจะดำเนินการได้ ดังนั้นพรรคการเมืองจะทำไพรมารี่โหวตทันหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของพรรคการเมือง .-สำนักข่าวไทย