กรุงเทพฯ 10 ม.ค. – กยท.ยืนยันประมูลปุ๋ยโปร่งใส ดำเนินการตาม พ.ร.บ. การยางฯ สามารถตรวจสอบได้ พร้อมย้ำปัจจัยการผลิตไม่ใช่ทุนให้เปล่าต้องใช้ตามวัตถุประสงค์
นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในฐานะรองโฆษก กล่าวถึงประเด็นที่มีผู้กล่าวหาการจัดซื้อปุ๋ยของ กยท. ว่า การจัดหาปุ๋ยให้ชาวสวนยางที่ได้รับทุนปลูกแทน เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มาตรา 37 วรรค 2 ที่ได้บัญญัติไว้ว่าการปลูกแทนให้ส่งเสริมและสนับสนุนโดยการจ่ายให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางซึ่งยางพันธุ์ดี พันธุ์ไม้ยืนต้น พันธุ์พืช ปุ๋ย เครื่องมือเครื่องใช้ จัดบริการอย่างอื่นช่วยเหลือ หรือจ่ายเงินให้ก็ได้ ทั้งนี้ จะจัดให้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างก็ได้ ซึ่งการจ่ายค่าปุ๋ยที่ผ่านมาดำเนินการหลายรูปแบบ ทั้งการจ่ายเป็นเงินให้เกษตรกรไปซื้อปุ๋ยใส่เอง การโอนสิทธิ์การรับเงินค่าปุ๋ย ให้กลุ่ม/สถาบันเกษตรกรเป็นผู้จัดหาปุ๋ย และ กยท. เป็นผู้จัดหา ซึ่งแต่ละวิธีมีทั้งข้อดีและข้อเสีย รวมถึงวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันไป
นายสุนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขั้นตอนการจัดหาปุ๋ยเป็นไปตามระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกำหนดไว้ตั้งแต่การจัดทำขอบเขตของงาน (TOR) และเอกสารประมูลปุ๋ยนำประกาศร่างเอกสารประกวดราคาด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของส่วนราชการ เปิดให้มีการเสนอแนะและวิจารณ์โดยมีผู้เปิดเผยตัว ปรับปรุงแก้ไขร่างประกาศและร่างเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์พร้อมความเห็น ประกาศเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ลงเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของส่วนราชการอีกครั้ง ทั้งนี้การประมูลที่ผ่านมามีผู้ซื้อเอกสารประมูลปุ๋ยเคมี 11 ราย และประเภทปุ๋ยอินทรีย์ 20 ราย โดยผู้ที่ยื่นซองประมูลจะต้องดำเนินการประมูลด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีผู้รับผิดชอบจัดการประมูลทำหน้าที่ดำเนินการ
สำหรับประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการ กยท.เลือกใช้วิธีการจัดหาเองแทนการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกร เพราะข้อกฎหมายของ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ระบุไว้ชัดเจนว่าการให้ทุนเพื่อปลูกแทน ไม่ใช่เงินให้เปล่า แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องไปจัดหาปัจจัยการผลิตเท่านั้น ซึ่งอาจมีบางส่วนที่ได้รับเงินไปแล้วอาจไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ อีกทั้งคุณภาพของปุ๋ยที่จัดหาได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตรสามารถตรวจสอบได้
“ชนิดและปริมาณปุ๋ยเป็นไปตามความต้องการใช้ของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางที่อยู่ในการสงเคราะห์ โดยมี กยท.ระดับจังหวัดประสานกับกลุ่ม/สถาบันเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ การจัดหาปุ๋ยครั้งนี้ดำเนินการในพื้นที่ปลูกยางพาราหลัก 18 จังหวัด ได้แก่ ภาคใต้ 14 จังหวัด รวมกับประจวบคีรีขันธ์ ระยอง จันทบุรี และตราด เป็นปุ๋ยเคมี 34,724.2 ตัน และปุ๋ยอินทรีย์ 30,000 ตัน รวม 64,724.2 ตัน ที่สำคัญตรวจรับและสุ่มตัวอย่างปุ๋ย เพื่อส่งวิเคราะห์ปลายทางจุดจ่ายประมาณ 300 จุด ซึ่งมีตัวแทนเกษตรกรและเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร กรรมการตรวจวิเคราะห์ปุ๋ย ก่อนที่จะส่งปุ๋ยที่มีคุณภาพถึงมือเกษตรกรชาวสวนยางผู้ใช้ต่อไป” นายสุนันท์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย