ทำเนียบฯ 9 ม.ค. – ครม.เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเฟส 2 ส่งหมอประชารัฐสุขใจลงพื้นที่สัมภาษณ์รายบุคคล จ่ายเงินเข้าบัตรสวัสดิการเพิ่ม 100-200 บาทต่อเดือน หากเข้าร่วมโครงการพัฒนาอาชีพ จัดสรรงบ 35,600 ล้านบาท เอกชนร่วมจ้างงานผู้มีรายได้น้อย ค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนภาษี 1.5 เท่า ร่วมเงินสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. 95,000 ล้าน และสินเชื่อจากออมสิน ใช้เงินดูแลกว่าแสนล้านบาท
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบ มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อให้ความช่วยเหลือเฟส 2 แก่ผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 จำนวน 4.7 ล้านคน มุ่งหวังให้มีงานทำ การฝึกอบรมอาชีพและการศึกษา การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ และการเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐาน โดยจะติดตามผลผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทุกคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท และอยู่ในวัยแรงงาน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทุกมิติรวมกว่า 34 โครงการ จากความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐอย่างน้อย 13 หน่วยงาน รวม 6 กระทรวง 3 ธนาคาร 2 กองทุน และ 2 หน่วยงาน
ทั้งนี้ รัฐบาลจัดสรรงบประมาณรองรับค่าใช้จ่าย 35,000 ล้านบาท ทั้งเรื่องวัสดุ เงินชดเชย เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายตามความจำเป็น ได้แก่ มาตรการส่งเสริมให้พัฒนาตนเอง โดยผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่แสดงความประสงค์จะพัฒนาตนเองตามที่กำหนด ตามแบบประเมินและเมนูการพัฒนารายบุคคล จะได้รับวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษาและวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม จากร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านอื่น ๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด โดยจะเริ่มได้รับเงินเดือนถัดไปหลังจากแสดงความประสงค์จนถึงเดือนธันวาคม 2561 ดังนี้ 1.ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทในปี 2559 ได้รับวงเงินเพิ่ม 200 บาท/คน/เดือน 2.ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทในปี 2559 ได้รับวงเงินเพิ่ม 100 บาท/คน/เดือน ใช้เงินอุดหนุน 13,872 ล้านบาท ผู้เข้าร่วมโครงการต้องร่วมตามข้อกำหนดไม่เช่นนั้นจะหักเงินคืน
รวมทั้งมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เมื่อเอกชนจัดการฝึกทักษะฝีมือให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือพิจารณาจ้างงานเป็นกรณีพิเศษ โดยให้หักรายจ่าย 1.5 เท่าของรายจ่าย ในส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 12 ของจำนวนลูกจ้างในบริษัท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2561 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 เพราะเมื่อเอกชนเข้ามาช่วยเหลือน่าจะครอบคลุมรายย่อยทั้งหมดที่ลงทะเบียน 4.7 ล้านคน โดยหลังจากนี้เมื่อกระทรวงการคลังส่งข้อมูลให้กับทางจังหวัดแล้วจะมีคณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประจำอำเภอ หรือทีมหมอประชารัฐสุขใจ (ทีม ปรจ.) ประกอบด้วย คณะทำงานระดับอำเภอและผู้ดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (AO) ทำหน้าที่ดูแลและให้คำแนะนำแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการฯ ทุกหมู่บ้าน เริ่มลงพื้นที่เดือนกุมภาพันธ์ เพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหา สอบถามความประสงค์ เช่น การทำงาน การฝึกอบรมอาชีพ เป็นต้น โดยทีมหมอประชารัฐสุขใจจะเริ่มต้นกระบวนการวิเคราะห์เป็นรายบุคคล มีการพัฒนาอย่างไรหรือมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นหรือไม่เพียงใด จากนั้นจะสัมภาษณ์เป็นรายบุคคลว่าต้องการทำอาชีพเสริมอะไรบ้างเดือนเมษายน 2561 และมีคณะกรรมการติดตามประเมินผล
สำหรับโครงการรองรับมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิต หลายหน่วยงานทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หางานให้ทำ เช่น การจัดหางานในประเทศและต่างประเทศโดยกระทรวงแรงงาน โครงการแฟรนไชส์สร้างอาชีพเพื่อผู้มีรายได้น้อยโดยกระทรวงพาณิชย์ โครงการตลาดประชารัฐโดยกระทรวงมหาดไทย การเพิ่มทักษะอาชีพแก่เกษตรกร โครงการมหาวิทยาลัยประชาชนโดยธนาคารออมสิน โครงการสินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์ โครงการสินเชื่อ Street Food โดยธนาคารออมสินหลายโครงการ และสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. วงเงิน 95,000 ล้านบาทผ่านโครงการต่าง ๆ และโครงการให้กู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐโดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และกระทรวงการคลัง การออมเพื่อการเกษียณ อายุสำหรับแรงงานนอกระบบโดยกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
นอจากจากนี้ ยังตั้งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (คนส.) ทำหน้าที่กำหนดนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การตั้งคณะอนุกรรมการติดตามการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (คอต.) ทำหน้าที่ติดตามความคืบหน้าและผลการดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตรายบุคคล คณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประจำจังหวัด (คอจ.) ทำหน้าที่แต่งตั้ง กำกับดูแล และกำหนดแนวทางการปฏิบัติงาน และการลงพื้นที่ของคณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐประจำอำเภอ และมอบหมายและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตรายบุคคล เพื่อช่วยเหลือแบบไม่เหวี่ยงแห มีเป้าหมายชัดเจน โดยจะบันทึกและติดตามผลสัมฤทธิ์อย่างใกล้ชิดจากผู้ดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.-สำนักข่าวไทย