นนทบุรี 9 ม.ค. – พาณิชย์ต่อยอดโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ ดึง ธ.ก.ส.ให้สินเชื่อเกษตรกร หวังสร้างงานสร้างอาชีพ ตั้งเป้า 10,000 ราย
นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ให้ความสำคัญต่อการยกระดับผู้มีรายได้น้อยตามนโยบายรัฐบาลเพื่อให้ก้าวพ้นเส้นความยากจน และมีความเป็นอยู่ในการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น จึงจับมือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้สินเชื่อ โดยไม่คิดดอกเบี้ย 6 เดือนแรก แก่เกษตรกรที่ลงทะเบียนผ่านโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ 3.9 ล้านคน แบ่งเป็นเกษตรกร 3.3 ล้านคน และผู้รับจ้างภาคเกษตร 600,000 คน จึงจัดโครงการ 100 แฟรนไชส์สร้างอาชีพเพื่อเกษตรกร ซึ่งจะดำเนินการครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
นางกุลณี กล่าวว่า กรมฯ จะคัดเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านการพัฒนาและมีคุณภาพให้ ธ.ก.ส.พิจารณา เพื่อให้เข้าร่วมโครงการฯ โดยจะอบรมให้ความรู้เกษตรกรที่ต้องการมีอาชีพเสริม โดยการซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ เช่น การให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์ การเลือกซื้อแฟรนไชส์อย่างไรให้ประสบความสำเร็จ การจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายแบบง่าย หลักการบริหารธุรกิจเพื่อให้กิจการอยู่รอด เป็นต้น ธุรกิจแฟรนไชส์ง่ายต่อการเริ่มต้นธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ มีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนด้วยตนเอง และที่สำคัญมีแฟรนไชส์ซอร์ช่วยคิดวางแผนธุรกิจและการเงินโดยไม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูกเอง ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์มีอัตราความเสี่ยงทางธุรกิจต่ำ ดังนั้น โอกาสที่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ จะประสบความสำเร็จจึงมีความเป็นไปได้สูง
สำหรับแฟรนไชส์ที่เข้าร่วมโครงการฯ จะมีขนาดไม่ใหญ่ ผ่านการพัฒนาจากกรมฯ และเป็นธุรกิจง่าย ๆ ที่เกษตรกรสามารถใช้ประกอบเป็นอาชีพได้ทันที เช่น อาหารและเครื่องดื่มประเภทต่าง ๆ เป็นต้น โดยแฟรนไชส์ดังกล่าวฯ จะเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรตลอดระยะเวลาที่ประกอบธุรกิจ ซึ่งจะสามารถลดความเสี่ยงต่อความล้มเหลวในการประกอบธุรกิจได้ เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่เคยทำธุรกิจมาก่อน ดังนั้น การมีพี่เลี้ยงจะช่วยให้ธุรกิจดำเนินไปได้ตลอดรอดฝั่ง รวมถึงสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการรายใหม่ ในการก้าวเข้าสู่การมีอาชีพอย่างเต็มตัว โดยเฟสแรกนี้ ธ.ก.ส.เตรียมวงเงินให้สินเชื่อส่วนบุคคลรายย่อยแก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ ธ.ก.ส.กำลังกำหนดเงื่อนไขและรายละเอียดการให้สินเชื่อ ซึ่งเกษตรกรจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนครั้งนี้ได้ไม่ยาก คาดว่าจะสามารถสร้างอาชีพให้เกษตรกรประมาณ 10,000 ราย และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากประมาณ 1,000 ล้านบาท
“มั่นใจโครงการ 100 แฟรนไชส์สร้างอาชีพเพื่อเกษตรกรจะสามารถยกระดับผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยภาคการเกษตรให้มีอาชีพเสริมที่มั่นคงถาวร มีรายได้เสริมและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งจะเป็นการสร้างโอกาสที่ดีในการก้าวเข้าสู่แวดวงธุรกิจ ทำให้การดำรงชีพระยะยาวของเกษตรกรมีความยั่งยืนมากขึ้น สามารถสร้างความเข้มแข็งต่อระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศระยะยาวอีกด้วย” นางกุลณี กล่าว.-สำนักข่าวไทย