กทม.8ม.ค.-ผู้ว่าฯกทม.เผยกทม.เตรียมสัญญาคณะกรรมการทางเลียบเจ้าพระยา เสนอเข้ากระทรวงมหาดไทย เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ไฟเขียวงบประมาณ
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาระยะแรก14 กิโลเมตร จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ว่า ขณะนี้ได้เตรียมสัญญา เสนอกระทรวงมหาดไทย (มท.) เพื่อเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติงบประมาณ คาดว่าภายในเดือน ก.พ.-มี.ค นี้ กทม.จะเปิดประมูลอีออกชั่นโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาระยะแรก 14 กิโลเมตร จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ค่าก่อสร้าง 8,362 ล้านบาท แยกเป็น 4 สัญญา เฉลี่ยสัญญาละ 3.5 กิโลเมตร จากนั้นภายในเดือน มี.ค.จะเริ่มงานก่อสร้าง ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 18 เดือน มีกำหนดแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2561 หรืออย่างช้าต้นปี 2562
ด้านนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า รัฐบาลได้มีนโยบายให้ กทม.เร่งดำเนินการ ดังนั้นเพื่อความรวดเร็ว จึงแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 4 ตอน โดยจะเริ่มสร้างฝั่งธนบุรีเป็นลำดับแรก เพราะไม่ติดรื้อย้ายชุมชนเหมือนฝั่งพระนครที่ กทม.กำลังดำเนินการอยู่ ส่วนค่าก่อสร้าง กทม.จะนำมาจากงบประมาณรายปี ซึ่งปี 2560 ได้จัดสรรไว้แล้ว จะผูกพันถึงปี 2561 สำหรับรายละเอียดโครงการที่ปรับใหม่ จะก่อสร้างเป็นทางเลียบแม่น้ำความกว้างฝั่งละ 7-10 เมตร ลดลงจากเดิมที่กำหนดไว้ 12-19 เมตร โดยองค์ประกอบของโครงการจะเป็นทางจักรยาน ถนนคนเดินจะเป็นรูปแบบสวนทางกันได้ พร้อมมีจุดแลนด์มาร์กเพื่อเป็นจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ ที่บริเวณสะพานพระราม 7 อาคารรัฐสภาแห่งใหม่และท่าวาสุกรี
สำหรับรายละเอียด 4 สัญญาที่จะเปิดประมูล ประกอบด้วย ช่วงที่ 1 จากพระราม 7-คลองบางซื่อ วงเงิน 1,770 ล้านบาท / ช่วงที่ 2 วงเงิน 2,470 ล้านบาท จากคลองบางซื่อ-สะพานปิ่นเกล้า / ช่วงที่ 3 จากสะพานพระราม 7-คลองบางพลัด วงเงิน 2,061 ล้านบาท และช่วงที่ 4 จากคลองบางพลัด-คลองสามเสน วงเงิน 2,061 ล้านบาท
ส่วนรูปแบบก่อสร้างโครงการออกเป็น 12 แผนงาน ประกอบด้วย
1.พัฒนาพื้นที่ชุมชน จะฟื้นฟูและอนุรักษ์วัฒนธรรม รวมถึงสืบสานวิถีชีวิตของชุมชน ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยว
2.พัฒนาจุดหมายตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ พิพิธภัณฑ์กรุงเทพมหานคร, สวนเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 7, พิพิธภัณฑ์มรดกเจ้าพระยา, ศูนย์ศิลปะการแสดงแห่งชาติและพิพิธภัณฑ์โรงเรือพระราชพิธี นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์ ด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม และเขตพระราชฐาน
3.พัฒนาท่าเรือ ให้เป็นจุดเชื่อมต่อการสัญจรทางน้ำที่ประชาชนได้รับความสะดวก ปลอดภัย และปรับปรุงรูปแบบสถาปัตยกรรมให้มีความสอดคล้อง เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่
4.พัฒนาเส้นทางให้เข้าถึงพื้นที่ เช่น ปรับปรุงตรอกซอกซอย และเข้าถึงพื้นที่ริมแม่น้ำ
5.พัฒนาทางเดินริมแม่น้ำ เชื่อมต่อพื้นที่มรดกวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั้ง 2 ฝั่งเข้าด้วยกัน มีทางเดินเลียบแม่น้ำและทางเดินบนดิน เช่น จากสะพานพระราม 8 ถึงวัดบวรมงคล และบางอ้อ ถึงวัดวิมุตยาราม จะประกอบด้วย ทางเท้า ทางจักรยาน จุดชมทัศนียภาพ สะพานข้ามคลอง ฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนริมน้ำ
6.ปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อนให้มีทัศนียภาพที่สวยงาม ซ่อมแซมเขื่อนที่ชำรุด ก่อสร้างส่วนที่ยังไม่ได้ดำเนินการให้เสร็จสมบูรณ์
7.พัฒนาศาลาริมน้ำ ให้เป็นจุดพักผ่อน ศาลาคอย
8.การพัฒนาพื้นที่บริการสาธารณะ เช่น ศูนย์บริการความช่วยเหลือ ข้อมูลท่องเที่ยว จุดบริการจักรยาน
9.พัฒนาพื้นที่ศาสนสถาน การออกแบบพัฒนาภูมิทัศน์ให้คำนึงถึงคุณค่าและเคารพต่อศาสนา
10.พื้นที่แนวคูคลองประวัติศาสตร์ จะปรับปรุงภูมิทัศน์ริมฝั่งคลอง รวมถึงการใช้ประโยชน์พื้นที่ริมคลอง ด้านการสัญจรและการท่องเที่ยว
11.พัฒนาพื้นที่นันทนาการและสวนสาธารณะริมน้ำ โดยใช้พื้นที่ว่างและสาธารณะด้านหลังเขื่อนรองรับกิจกรรมนันทนาการ ลานกีฬา และสวนสาธารณะ รวมถึงแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังและเน่าเสียหลังเขื่อน และ 12.สร้างสะพานคนเดิมข้ามใหม่ 2 จุด คือ จากชุมชนสะพานพิบูลฝั่งซ้าย ข้ามไปยังท่าเรือวัดฉัตรแก้วจงกลณี ฝั่งธนบุรี และจากห้างแม็คโคร สามเสน ข้ามไปยังท่าทราย ซอยจรัญสนิทวงศ์ 84 โดยแนวจะสร้างร่วมกับถนนเดิมที่มีอยู่ ให้เป็นรูปแบบสะพานที่คนสามารถเดินข้ามได้ มีพื้นที่พิเศษ 5 แห่ง ที่รัฐสภาใหม่ วังเทวะเวสม์ ท่าวาสุกรี วังศุโขทัย และธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะเป็นพื้นที่อ่อนไหว .-สำนักข่าวไทย