กรุงเทพฯ 10 ต.ค. – กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งเป้าหนุนเอสเอ็มอีใช้นวัตกรรม-เทคโนโลยี เพิ่มมูลค่าการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกปลายน้ำ จาก 646,320 ล้านบาทในปีนี้ เป็น 801,719 ล้านบาทในปี 64
นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกปลายน้ำ ผ่านกลไกการทำงานของหน่วยงาน Industrial Tranfromation Center ตามแผนการปรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบออกไปสู่เชิงพาณิชย์ โดยเป็นการพัฒนาผู้ประกอบการที่มุ่งส่งเสริมสนับสนุนช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีและวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ
ส่วนอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกปลายน้ำ ตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์พลาสติกปลายน้ำในอีก 5 ปีข้างหน้าหรือปี 2564 จากปัจจุบันมีมูลค่ารวม 646,320 ล้านบาท เป็น 801,719 ล้านบาท ซึ่งยอดส่งออกจะเพิ่มจาก 122,809 ล้านบาท เป็น 241,774 ล้านบาท หรือเพิ่มจากร้อยละ 19 เป็นร้อยละ 30 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์พลาสติกปลายน้ำ และหากนับรวมกับมูลค่าการผลิตเม็ดพลาสติกที่คาดว่าจะไม่เติบโตจนถึงปี 2564 อีก 250,000 ล้านบาท มูลค่าจะเพิ่มจาก 896,320 ล้านบาทในปีนี้ เป็นประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท พร้อมตั้งเป้าให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลาสติกในอาเซียนได้อย่างยั่งยืนหรือ Asean Plastics Growth Driven
นายสมชาย กล่าวว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายกระทรวงอุตสาหกรรมให้สถาบันพลาสติกจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกไทยปี 2559-2564 มุ่งเน้นสนับสนุนให้ผู้ประกอบการพลาสติกไทย ซึ่งกว่าร้อยละ 80 เป็นกลุ่มเอสเอ็มอี ที่มีข้อจำกัดด้านเงินทุนในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ สามารถที่จะยกระดับการผลิตไปสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ New S-curve ที่จะนำไปสู่การเป็นอุตสาหกรรม 4.0 สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ตามแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ
ส่วนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกไทย มุ่งเน้นพัฒนา 3 ด้าน ได้แก่ การปรับโครงสร้างการผลิตและการตลาด โดยเน้นการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมสินค้าใหม่ ๆ ออกมาสู่ตลาดพร้อมกระจายฐานการผลิตไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อให้ง่ายต่อการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์พลาสติกต่อหน่วยให้สูงขึ้น โดยเน้นการส่งเสริมงานด้านองค์ความรู้การวิจัยและความคิดสร้างสรรค์เพื่อออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกให้มีมูลค่าสูงขึ้น โดยเน้นสินค้า 3 กลุ่มที่มีโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นสินค้าโปรดักส์แชมป์เปี้ยนของภาคอุตสาหกรรมพลาสติกไทย ได้แก่ กลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติกฟังก์ชั่นนอลสำหรับอาหาร กลุ่มวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และกลุ่มพลาสติกชีวภาพ และสุดท้าย คือ ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนพัฒนาพลาสติกชีวภาพหรือไบโอพลาสติก เนื่องจากประเทศไทยมีความได้เปรียบจากปัจจัยความพร้อมด้านวัตถุดิบในการผลิตพลาสติกชีวภาพที่สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้
สำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมต้นน้ำเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบและชิ้นส่วนประกอบในภาคการผลิตต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมทางการแพทย์และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ภายในบ้าน เป็นต้น.- สำนักข่าวไทย