กรุงเทพฯ 29 ธ.ค. – ธปท. ติดตามภาวะหนี้ครัวเรือนกดดันการฟื้นตัวของกำลังซื้อในปี2561 และการกระจุกตัวการลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2561 ยังขยายตัวต่อเนื่อง เติบโตร้อยละ 3.9 จากการส่งออกที่คาดว่าขยายตัว 4 และการท่องเที่ยว ขณะที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และ กำลังซื้อในประเทศที่ยังกระจายตัวไม่ทั่วถึง และภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง ซึ่งแม้จะภาวะหนี้จะลดลงบ้างแต่ยังไม่อยู่ในระดับที่ทำให้การใช้จ่ายเร่งตัวมากกว่านี้ ทำให้การใช้จ่ายค่อยเป็นค่อยไป การจ้างงานและรายได้ของแรงงานยังไม่ได้รับผลดีอย่างเต็มที่จากการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม คาดการบริโภคภาคเอกชนปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.1
นายจาตุรงค์ กล่าวว่า แม้จะเห็นสัญญาณการลงทุนในหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น แต่ยังมีภาคธุรกิจบางส่วนชะลอการลงทุน เนื่องจากมีกำลังการผลิตเหลืออยู่ ในระยะต่อไป การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และ การเร่งพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะมีส่วนช่วยเพิ่มความเชื่อมั่น และจะดึงเม็ดเงินให้เอกชนลงทุนตาม โดยคาดการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.3
นายจาตุรงค์ กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ยังติดตามพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ( Search for Yield)ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยเฉพาะความสามารถในการประเมินความเสี่ยงของ ประชาชนในการลงทุน ที่บางส่วนอาจประเมินความเสี่ยงไม่ถูกหรือต่ำเกินไป โดยขณะนี้กนง.ติดตามการลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ ( FIF) ที่ขยายตัวสูงต่อเนื่อง และ มีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของการลงทุนในไม่กี่ประเทศ
นางสาวพรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการ สำนักวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2560 ขยายตัวได้ดี จากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวได้ ร้อยละ 12.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และกระจายตัวในทุกตลาดส่งออกสำคัญ สอดคล้องกับความต้องการต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัว ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวได้ดี – สำนักข่าวไทย