คปภ. 11 ต.ค. – คปภ.หารือสมาคมธนาคารไทยออกบัญญัติ 12 ประการ คุมการซื้อประกันภัยผ่านธนาคาร ห้ามใช้เป็นเงื่อนไขปล่อยสินเชื่อ ย้ำไม่ใช่เงินฝาก แนะลูกค้าตัดสินใจซื้อให้ตรงกับความต้องการ
นายชูฉัตร ประมูลผล รองเลขาธิการ ด้านตรวจสอบ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แถลงร่วมกับนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เพื่อกำหนดกรอบแนวทางการกำกับและควบคุมคุณภาพการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านธนาคาร หลังจากที่ผ่านมาสมาคมธนาคารไทยแจ้งแนวทางปฏิบัติร่วมกันของภาคธนาคาร เพื่อปรับปรุงคุณภาพการขาย ด้วยการแยกพื้นที่การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยออกจากเคาน์เตอร์รับฝากเงิน และมีป้ายบอกอย่างชัดเจน รวมถึงการใช้กระบวนการกำกับและตรวจสอบคุณภาพการขายประกันภัยของธนาคาร ทั้งกระบวนการก่อน ระหว่าง และหลังการขาย โดยมีการสุ่มตรวจ (Mystery Shopping) มาควบคุม อีกทั้งการจัดทำคู่มือประกอบการขาย และจัดอบรมความรู้เพื่อสร้างมาตรฐานการขายที่เป็นสากล สามารถยึดปฏิบัติได้เหมือนกันทุกธนาคาร
ทั้งนี้ คปภ.จึงร่วมกับสมาคมธนาคารไทยจัดทำบทบัญญัติแนะนำ 12 ประการ ให้กับประชาชนในการซื้อประกันภัยผ่านธนาคาร เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจตรงกันระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขายประกันภัย โดยก่อนซื้อผู้ซื้อต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการซื้อประกันชีวิตไม่ใช่การฝากเงินกับธนาคาร และมีสิทธิ์เลือกซื้อประกันภัยด้วยความสมัครใจ สามารถปฏิเสธได้หากไม่เป็นไปตามความต้องการ ซึ่งธนาคารไม่อาจใช้การทำประกันภัยเป็นเงื่อนไขต่อรองในการให้สินเชื่อหรือธุรกรรมอื่นได้ และที่สำคัญต้องขอดูใบอนุญาตนายหน้าประกันภัยของพนักงานธนาคารก่อนซื้อทุกครั้ง
ส่วนระหว่างซื้อ ผู้ซื้อควรเลือกแบบประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองตรงกับความต้องการมากที่สุด และควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อยกเว้นของกรมธรรม์นั้น หากไม่เข้าใจต้องสอบถามจากผู้ขายให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจซื้อ อีกทั้งยังควรประมาณการรายรับ-รายจ่าย เพื่อให้สามารถจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยได้ครบตลอดระยะเวลาของสัญญาประกันภัย และควรกรอกใบคำขอเอาประกันภัยด้วยตนเองตามความเป็นจริง และหลังซื้อ ผู้ซื้อต้องชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัยเข้าบัญชีบริษัทประกันภัยเท่านั้นและจะต้องได้รับเอกสารการรับชำระเงินจากธนาคาร พร้อมเก็บไว้เป็นหลักฐาน และเมื่อได้รับกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว ควรตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยว่าถูกต้องและเป็นไปตามการเสนอขายหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามที่เสนอขาย สามารถยกเลิกได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดในกรมธรรม์ประกันภัย กรณีเกิดข้อสงสัยหรือข้อผิดพลาดในกรมธรรม์ให้ติดต่อผู้ขายหรือบริษัทประกันภัยโดยเร็ว
ปัจจุบันช่องทางการขายประกันภัยผ่านธนาคารได้รับความนิยมจากประชาชน มีผู้เอาประกันภัยสูงขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขายประกันชีวิต เห็นได้จากวันที่ 30 มิถุนายน 2559 จำนวนเบี้ยประกันชีวิตรับรวมผ่านช่องทางธนาคารมีทั้งสิ้น 123,418 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 45.36 ของการขายประกันชีวิตรวมทุกช่องทาง โดยขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.7 ขณะที่จำนวนเบี้ยประกันวินาศภัยรับรวมผ่านช่องทางธนาคารมีทั้งสิ้น 12,337 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.78 ของการขายประกันวินาศภัยรวมทุกช่องทางขยายตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.16
รองเลขาฯ คปภ. กล่าวว่า คปภ.ตระหนักถึงความสำคัญของการซื้อประกันภัยของประชาชนผ่านช่องทางธนาคารซึ่งมีแนวโน้มเติบโตขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดจากการทำประกันภัย รวมถึงเพื่อกระตุ้นเตือนให้ธนาคารในฐานะนายหน้าประกันภัยตระหนักถึงความสำคัญในการติดตามตรวจสอบคุณภาพการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยของพนักงานธนาคาร และที่ผ่านมามีการร้องเรียนเรื่องการซื้อประกันภัยผ่านธนาคาร พบว่ากว่าครึ่งเกิดจากความเข้าใจของลูกค้าที่คลาดเคลื่อน ดังนั้น เพื่อสร้างวัฒนธรรมการขายประกันภัยผ่านธนาคารที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ประชาชนต้องมีความเข้าใจว่าการทำประกันชีวิตไม่ใช่การฝากเงินกับธนาคาร รวมถึงต้องเข้าใจสิทธิของตนเองว่าสามารถเลือกที่จะซื้อหรือไม่ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยจากธนาคารก็ได้ และธนาคารก็ไม่อาจใช้การทำประกันภัยเป็นเงื่อนไขต่อรองในการให้สินเชื่อ หรือธุรกรรมอื่น ซึ่งหากทั้งผู้ซื้อและผู้ขายมีความเข้าใจที่ตรงกันแล้วก็จะช่วยให้ข้อขัดแย้งต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตลดลง ทั้งนี้ หากมีขอสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่สายด่วน คปภ.1186 หรือ www.oic.or.th.-สำนักข่าวไทย