พังงา 26 ธ.ค.-โศกนาฏกรรมพิบัติภัยสึนามิพัดถล่ม 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามันของไทยเมื่อปี 2547 มีผู้เสียชีวิตชาวไทยมากกว่า 5,000 คน สูญหายร่วม 3,000 คน พื้นที่ จ.พังงา มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยติดตามชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประสบชะตากรรมในวันครบรอบ 13 ปี วันนี้
ภาพความสูญเสียของชีวิตและซากปรักหักพังจาก เหตุมหาวิปโยคครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย “คลื่นยักษ์สึนามิ” ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 3,000 คนใน จ.พังงา ผู้คนอีกมากมายกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย พลัดพรากจากคนที่รักอย่างไม่มีวันกลับ
26 ธันวาคม 2547 ชุมชนบ้านน้ำเค็ม และเขาหลักใน อ.ตะกั่วป่า คือหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ด้วยสภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่ล้อมรอบด้วยทะเล ทำให้แรงคลื่นถาโถมเข้าทำลายทุกสรรพสิ่งอย่างรุนแรงและรวดเร็ว
ในวันนั้น “ลำใย วงศ์เชียงยืน” คือหนึ่งในผู้ประสบภัยเคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์สึนามิ ตัวเธอเองอาจโชคดีที่หนีพ้นเงื้อมพญามัจจุราช แต่ภาพของลูกสาววัย 11 เดือน ถูกกระแสน้ำกระชากหลุดจากอ้อมอก พร้อมกับลูกสาววัย 3 ขวบเศษที่ถูกน้ำพัดหายไปต่อหน้าต่อตายังคงเป็นความทรงจำที่เจ็บปวดที่ยากลืมเลือน แม้เวลาจะล่วงเลยมา 13 ปีแล้ว
3 ปีให้หลังเหตุการณ์สึนามิ ลำใย ในวัย 41 ปี ตัดสินใจเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อแก้การคุมกำเนิดแบบถาวร พร้อมกับเพื่อนในหมู่บ้านอีก 4 รายที่ประสบชะตากรรมไม่ต่างจากเธอ ปัจจุบันเธอมีลูกชายวัย 4 ขวบ ที่กำลังน่ารักสมตามตั้งใจ แม้จะทดแทนกับความเจ็บปวดในอดีตได้ไม่ทั้งหมด แต่เธอบอกว่าทำให้ชีวิตอยู่อย่างมีความหวังอีกครั้ง
เช่นเดียวกับ “ลุงนิคม เพียรพาณิช” ที่ต้องสูญเสียบุตรสาววัย 14 ปี ไปต่อหน้าต่อตา ลุงนิคม เล่าว่า ตนเองรอดชีวิตอย่างปาฏิหาริย์ จากการที่ขึ้นไปอยู่บนหลังคาบ้าน นานนับชั่วโมงที่เห็นภาพผู้คนและสิ่งของถูกน้ำพัดพาไปคนละทิศละทาง พร้อมด้วยเสียงกรีดร้องขอความช่วยเหลือของทั้งคนรู้จักและนักท่องเที่ยวที่ยังก้องอยู่ในหู
โศกนาฏกรรมอันเกิดจากภัยธรรมชาติสึนามิได้สร้างความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินแก่ผู้คนจำนวนมาก จนยากที่จะประเมินค่าความเสียหาย เฉพาะใน จ.พังงา นอกจากชาวบ้านชุมชนบ้านน้ำเค็มแล้ว ยังมีข้อมูลว่าจนถึงปัจจุบัน มีผู้ประสบชะตากรรมอีกจำนวนกว่า 300 กว่าราย จาก 19 ชาติที่ยังคงรอการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล.-สำนักข่าวไทย