สำนักงานกกต. 19 ธ.ค.-สมชัยติงใช้ม.44 แก้พ.ร.ป.พรรคการเมือง อ้างหลายเหตุ ลืมเหตุผลเดิมปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เป็นอิสระจากนายทุน
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงกรณีนายวิษณุ เครืองามระบุว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) หารือข้อเสนอแก้ไขพระรราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะใช้มาตรา 44 แก้ไขมากกว่าการแก้ไขตามแนวทางปกติ ว่า พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ วันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมาเป็นการออกแบบระบบพรรคการเมืองใหม่ เพื่อให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง เป็นสถาบัน มีรากฐานจากประชาชน และป้องกันการแทรกแซงจากนายทุนหลายข้อกำหนดในพ.ร.ป.ดังกล่าวเพื่อตอบโจทย์ที่กำหนดมา ไม่ว่าจะเป็นการให้พรรคต้องมีสาขาหรือตัวแทนพรรคถึงในระดับจังหวัดจึงจะส่งผู้สมัครได้ ต้องมีทุนประเดิมอย่างน้อยหนึ่งล้านบาท และการเก็บค่าสมาชิกพรรคเพื่อให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของ ต้องทำไพรมารีโหวตเพื่อให้สมาชิกพรรคมีเสียงคัดสรรผู้สมัคร ไม่ใช่อำนาจของนายทุนเจ้าของพรรค สิ่งเหล่านี้คือสาระหลักที่เป็นหัวใจของพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง โดยมีจุดหมายปลายทางคือการปฏิรูปการเมืองและการเลือกตั้ง
“กรอบเวลาต่าง ๆ ที่กำหนดให้พรรคต้องดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นภายใน 90 วัน 180 วัน 1 ปี หรือ 4 ปี ล้วนแล้วแต่เป็นภาคบังคับที่กำหนดให้พรรคต้องทำตาม โดยหวังว่าพรรคการเมืองที่มีอยู่เดิมจะใช้เวลาดังกล่าวดำเนินการอย่างมีขั้นตอนเป็นระบบ ส่วนพรรคการเมืองใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นก็อยู่ภายใต้กติกาซึ่งไม่ต่างกันมาก บางอย่างได้เปรียบ บางอย่างอาจเสียเปรียบ ภายใต้ฐานคติว่าคงไม่สามารถทำให้เหมือนกันทุกอย่างได้ มาวันนี้ ผู้ยิ่งใหญ่ทางการเมืองท่านหนึ่งผู้ชูธงปฎิรูปก่อนเลือกตั้งมาตลอดและผู้เตรียมการจัดตั้งพรรคที่ประกาศจะสนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเป็นนายกฯ ต่ออีกท่านหนึ่ง กลับเรียกร้องให้แก้ไขพ.ร.ป.พรรคการเมือง โดยมีสาระคือยกเลิกสาขาพรรค ยกเลิกไพรมารีโหวต เรียกร้องให้รีเซ็ตสมาชิกของพรรคการเมืองเดิม ทำให้พรรคที่มีความเข้มแข็งกลายเป็นพรรคที่อ่อนแอต้องเริ่มต้นใหม่ โดยอ้างความเท่าเทียม ไปไกลขนาดเสนอให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้า คสช.ใช้ม.44 แก้ไขพ.ร.ป.พรรคการเมือง โดยเอาประเด็นกรอบเวลาที่เป็นข้อจำกัดของพรรคการเมืองว่าทำไม่ทันเป็นตัวเริ่มและลามไปยังประเด็นอื่น ๆ โดยลืมสิ้นถึงหลักการปฏิรูปที่เคยพูดไว้ในอดีต” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวว่า การอ้างเหตุผลการแก้ไข ไม่ว่าจะเพื่อให้เกิดมาตรฐาน เท่าเทียม เป็นธรรม เกิดผลสำเร็จในการปฏิรูปการเมือง และการแก้ไขด้วยวิธีการปกติด้วยการออกกฎหมายในสภานั้นไม่ทันการณ์ เห็นว่าถ้าจะให้เกิดมาตรฐาน เท่าเทียม เป็นธรรม ควรใช้ ม.44 เพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน เท่าเทียม เป็นธรรม ระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) กกต. และศาลรัฐธรรมนูญก่อนดีกว่า เพราะมีหลายมาตรฐาน.-สำนักข่าวไทย
