นนทบุรี 18 ธ.ค.- รัฐมนตรีพาณิชย์แนะคนไทยควรรักษาสถานะ หลังสหรัฐปรับลดจากบัญชี PWL ชี้หากทุกฝ่ายร่วมมือโอกาสไทยไม่ถูกขึ้นบัญชีใดๆก็เป็นไปได้สูง
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยเพิ่มเติมหลังจากที่สหรัฐฯ ได้ประกาศปรับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) จากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (Priority Watch List: PWL) เป็นบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 โดยระบุว่า ถือเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นด้านการค้าการลงทุนของประเทศในสายตาของผู้ค้าและนักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่มีการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในการขับเคลื่อนธุรกิจ
ทั้งนี้ ในปี 2560 (มกราคม – กันยายน) มีโครงการต่างชาติที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรม มูลค่ารวม 116,274 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีทรัพย์สินทางปัญญาเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต 3 อันดับแรกประกอบด้วย ยานยนต์ คิดเป็นมูลค่า 32,429 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ , ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ คิดเป็นมูลค่า 26,988 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอิเล็กทรอนิกส์ คิดเป็นมูลค่า 26,729 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ และเชื่อว่าการลงทุนของสหรัฐในไทยในสายตาสหรัฐและชาวโลกจะมองมาในประเทศไทยมากขึ้น
nbอย่างไรก็ตาม การปรับสถานะในครั้งนี้ยังเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่สหรัฐฯ พิจารณาในการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ GSP ซึ่งสหรัฐฯ ให้แก่ประเทศคู่ค้าต่างๆ รวมถึงไทยด้วย โดยในปี 2560 (เดือนมกราคม – กันยายน) ไทยมีมูลค่าการส่งออกของรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP ไปยังสหรัฐฯ 4,245 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีมูลค่าการส่งออกภายใต้สิทธิ GSP 3,098 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ GSP ถึงร้อยละ 72.98 สินค้าสำคัญที่มีการใช้สิทธิ GSP สูง ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่มอื่นๆ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง และส่วนประกอบยานยนต์ แต่สิ่งสำคัญในการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญายังช่วยปกป้องคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ช่วยส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์และนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ตัวอย่างเช่น ในปี 2558 อุตสาหกรรมคอนเทนต์ (ประกอบด้วยภาพยนตร์ แอนิเมชั่น เพลง เกมส์ โทรทัศน์) ของไทย มีมูลค่า 253 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มีมูลค่า 197 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 28 นอกจากนี้ มูลค่าการใช้จ่ายเพื่อบริโภคสื่อคอนเทนต์ในประเทศเพิ่มขึ้นมากกว่า 2.3 เท่า หรือจาก 24,000 ล้านบาท ในปี 2554 เป็น 56,000 ล้านบาท ในปี 2558 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมในประเทศที่อาศัยทรัพย์สินทางปัญญาเป็นตัวขับเคลื่อน
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในครั้งนี้นอกจากเป็นผลมาจากความมุ่งมั่นในระดับนโยบายแล้ว ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ได้บูรณาการการทำงานร่วมกันมาอย่างเข้มแข็ง และเชื่อมั่นว่าจะมีการบูรณาการการทำงานเช่นนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป พัฒนาการด้านการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทยและการปรับสถานะของไทยออกจากบัญชี PWL และอยู่ WL ทุกคนและทุกฝ่ายจะต้องรักษาให้มั่นคงและจริงจัง และเชื่อว่า หากประเทศไทยมีการดูแลไม่ใช้ของที่ผิดกฎหมาย ไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา แก้ไขกฎหมายให้เป็นสากล โดยเฉพาะกฎหมายลิขสิทธ์ิ การจดทะเบียนให้บริการด้านคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้รวดเร็วยิ่งขึ้น น่าจะทำให้อนาคตประเทศไทยจะหลุดพ้นจาก WL ของสหรัฐมาเป็นประเทศที่น่าจะทุนมากขึ้นได้.-สำนักข่าวไทย