นนทบุรี 13 ธ.ค. – กระทรวงพาณิชย์จัดงานแฟรนไชส์สร้างอาชีพผู้มีรายได้น้อย ขยายผลจากโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยผู้มีรายได้น้อยมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ดึงธนาคารรัฐปล่อยกู้และ บสย.ค้ำประกัน
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า วันนี้ (13 ธ.ค.) กรมพัฒนาธุรกิจการค้าร่วมกับผู้ประกอบการรายย่อยจัดงานโครงการแฟรนไชส์สร้างอาชีพเพื่อผู้มีรายได้น้อย ต่อยอดจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของรัฐบาล สนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นการลดปัญหาช่องว่างระหว่างคุณภาพชีวิตของประชาชนไทย ส่งผลเชิงบวกให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น ดังนั้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงบูรณาการความร่วมมือระหว่างธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านการพัฒนาจากกรมฯ ซึ่งเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีมาตรฐานและมีการบริหารจัดการที่ดีมาเป็นพี่เลี้ยงร่วมกับธนาคารของรัฐในการให้สินเชื่อ เพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อย
ทั้งนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์ที่เข้าร่วมออกบูธแสดงธุรกิจครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจประเภทอาหารและเครื่องดื่มขนาดเล็ก ถ้าผู้มีรายได้น้อยสนใจลงทุนแบรนด์ใดก็สามารถเจรจาซื้อ-ขายกันได้ทันทีภายในงาน ประกอบกับมีธนาคารออมสินมาพิจารณาให้สินเชื่อ โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้สนใจและผู้มีรายได้น้อยที่จะลงทุนในระบบแฟรนไชส์ รวมถึงมีการสัมมนาเรื่อง ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับแฟรนไชส์ การทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายง่าย ๆ อย่างไรให้มีกำไรยั่งยืน และหลักการเลือกซื้อแฟรนไชส์ เพื่อให้ผู้เข้าสัมมนามีข้อมูลสำหรับสนับสนุนการตัดสินใจลงทุนด้วย
สำหรับแบรนด์ที่มาร่วมงานเป็นแฟรนไชส์ที่มีมูลค่าการซื้อขายต่อธุรกิจ 10,000-50,000 บาท ถือว่าเป็นแบรนด์ที่มีราคาไม่สูงมากเหมาะสำหรับผู้จะเริ่มต้นธุรกิจแต่ไม่เคยมีประสบการณ์ เช่น แบรนด์พิซซ่าอาหม่วย, แหม่ม ซาลาเปาลาวา, โจ๊กแต้จิ๋ว, กิมซุนหมูปิ้งประเทศไทย, ร้านประจำ Delivery, ตำระวิง mini, อาโกกาแฟโบราณ, เต้าหู้ลุงเหน่ง, ชาตันหยง, สุขอุทัย ผัดไทแฟรนไชส์, Laundry Care Mini, The hen Noodle, น้ำหอมกัลยา, อร่อยจัง, ลูกชิ้นพิษณุโลก ราม่า, สเต็กขั้นเทพ, นมเหนียว ปังปิ้ง, ไจแอ้นลูกชิ้นระเบิด, ซูโม่ลูกชิ้นปลาระเบิด, อู้ฟู่ลูกชิ้นปลาเยาวราช, ราชาหมูระเบิด และชาบังนัน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การจัดโครงการแฟรนไชส์สร้างอาชีพเพื่อผู้มีรายได้น้อยครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น โดยจะขยายผลการจัดงานไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ด้วย เพื่อกระจายความรู้ในการทำธุรกิจและการพัฒนาผู้มีรายได้น้อยที่อยู่ในต่างจังหวัดให้มีอาชีพที่มั่นคงเสริมความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีทำให้คนไทยที่มีรายได้น้อยสามารถลืมตาอ้าปากได้ ลดการพึ่งพาสวัสดิการจากรัฐและเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาประเทศไทยต่อไป
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารออมสินตรียมวงเงินสินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์รองรับการขอสินเชื่อสร้างอาชีพให้กับผู้มีรายได้น้อย โดยมีวงเงินสินเชื่อรวม 3,000 ล้านบาท กำหนดสินเชื่อต่อรายสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท แต่เชื่อว่าจะมีผู้กู้รายละไม่เกิน 100,000-200,000 บาท จึงคาดว่าจะปล่อยสินเชื่อได้ไม่ต่ำกว่า 100,000 ราย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อเดือนใน 1 ปีแรก และร้อยละ 0.50-1 ในปีถัดไปจนครบระยะเวลา 7 ปีในการชำระคืนเงินกู้ ซึ่งตามรายชื่อที่กระทรวงพาณิชย์เตรียมเสนอให้ธนาคารออมสินพิจารณากว่า 500 ราย และเสนอไปแล้ว 44 รายที่จะพิจารณาก่อน พร้อมทั้ง บสย. หลักประกันธุรกิจ หลักประกันที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อได้ โดยสามารถเข้าขอสินเชื่อได้ตั้งแต่เดือนนี้จนถึงเดือนมิถุนายนปี 2561. – สำนักข่าวไทย