มสธ. 12 ธ.ค.-มสธ.จัดเสวนา “ทางออกจากวังวนอำนาจนิยม:ระบบรัฐธรรมนูญนิยมประชาธิปไตย” “จาตุรนต์” ชี้ประเทศยังไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นอำนาจสูงสุดโดยแท้ แนะสร้างค่านิยมให้สังคมเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานและไม่ยอมรับการรัฐประหาร
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) โดยสาขาวิชานิติศาสตร์ ร่วมกับสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช จัดเวทีเสวนาทางวิชาการ “ทางออกจากวังวนอำนาจนิยม : ระบบรัฐธรรมนูญนิยมประชาธิปไตย” โดยมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ , นายเซม วรายุเดช อาจารย์มหาวิทยาลัยนิวอิงแลนด์ , นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์รัฐศาสตร์ มสธ. และนายวิชัย ศรีรัตน์ อาจารย์นิติศาสตร์ เข้าร่วมสัมมนา
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า วันนี้ระบบรัฐธรรมนูญนิยมไม่สามารถลงหลักปักฐานได้ในประเทศไทย เพราะยังไม่มีรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจสูงสุดตามคำนิยามที่ใช้ได้จริง แม้จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดแล้วก็ตาม แต่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญของประเทศที่มีอารยะ คือ รัฐธรรมนูญไม่ใช่กฎหมายสูงสุดในประเทศ เพราะแม้จะเป็นกฎหมายสูงสุด แต่กลับรับรองอำนาจของกลุ่มคนที่อยู่เหนือกฎหมาย จึงไม่ถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุดโดยแท้ อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของปวงชนชาวไทย โดยผ่าน 3 เสาหลัก คือ อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ
“กรณีมีข้อพิพาทในคำสั่ง คสช. ศาลไม่สามารถตัดสินได้ว่าคำสั่งโดยกลุ่มบุคลลดังกล่าวชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย ผมไม่ได้พูดเอาเอง มีการรับรองด้วยระบบยุติธรรมของไทยมาแล้วหลายปีตั้งแต่ในอดีต ที่อ้างกันถึงคำพิพากษาศาลฎีกาว่าคำสั่ง คสช.เป็นอำนาจรัฐถาธิปัตย์ แม้จะยังไม่มีศาลรัฐธรรมนูญที่รับรองการทำรัฐประหาร แม้ว่าในปี 2549 ศาลรัฐธรรมนูญก็ถูกยกเลิกไป และตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาแทนเพื่อยุบพรรคการเมืองบางพรรคไป และการรัฐประหารล่าสุดแม้จะไม่มีการยุบศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการปกป้องรัฐธรรมนูญโดยแท้” นายจาตุรนต์ กล่าว
นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า ไม่สามารถตอบได้ว่าสังคมไทยจะออกจากวังวนของอำนาจนิยมได้เมื่อใด ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่าทางออกจากวังวนของอำนาจนิยม คือ การสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจให้สังคมตระหนักว่าการทำรัฐประหารไม่ใช่สิ่งที่ควรทำหรือต้องทำเพราะความจำเป็น และสังคมไม่ควรให้การยอมรับอีกต่อไป รวมทั้งทำให้สังคมเข้าใจว่าต้องมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอำนาจสูงสุดจริง ๆ มีอำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชนโดยแท้ โดยต้องสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมทางการเมือง ให้ประชาชนตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานให้เกิดขึ้นในสังคมไทยให้ได้
ด้านนายยุทธพร กล่าวว่า ปัจจุบันมีรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ที่ประกาศใช้แล้ว แต่สังคมยังเกิดคำถามว่ามีรัฐธรรมนูญใช้แล้วจริงหรือไม่ เหตุใดยังคงมีคำสั่ง คสช.มาตรา 44 บังคับใช้อยู่ คำถามเหล่านี้ไม่เพียงเกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่เกิดกับสังคมไทยมาตั้งแต่ในอดีต เพราะกระบวนการของรัฐธรรมนูญไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและไม่ได้รู้สึกเป็นเจ้าของโดยแท้ ซึ่งปัญหาเกิดจากการถ่วงดุลอำนาจในการตรวจสอบและการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ คือ ควรมีหลักประกันสิทธิเสรีภาพขอประชาชน เพราะสิทธิเป็นของประชาชนทุกคนภายใต้หลักนิติรัฐและนิติธรรม ควบคู่กับประชาธิปไตย จึงจะเป็นประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญโดยแท้จริง นอกจากนี้มองว่าควรมีการเลือกตั้งที่สม่ำเสมอเพื่อสะท้อนสิทธิ แต่ปัจจุบันมองว่าการเลือกตั้งแต่ละครั้งเป็นเรื่องที่เลวร้าย รวมทั้งควรมีกลไกของสถาบันทางการเมืองในการตรวจสอบการทุจริตในภาครัฐ
“สิ่งสำคัญที่สุด คือ สังคมไทยขาดวัฒนธรรมการตระหนักรู้ถึงอำนาจของการเป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เราอยู่ในวังวนของอำนาจนิยมและมองว่าการรัฐประหารคือทางออกเมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในสังคม ซึ่งในอดีตเราผ่านการทำรัฐประหารมาแล้ว 13 ครั้ง สะท้อนความล้มเหลวของการจัดการเรื่องถ่วงดุลอำนาจในสังคมไทย” นายยุทธพร กล่าว.-สำนักข่าวไทย